รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี ถิ่นจ่อ และ อองซาน ซูจี ผู้นำตัวจริง ได้แสดงท่าทีชัดเจนที่สุดออกมาแล้วว่า ไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนญาเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองพม่า แถมยังเรียกร้องให้นานาชาติเลิกใช้คำ ๆ นี้แบบที่ชาวโรฮีนญาเรียกตัวเอง ให้เรียกว่าชาวเบงกาลีแทน
ซูจี ร้องขอกับจอห์น เคอรี่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกาว่าจะขอเวลาในการจัดการเรื่องละเอียดอ่อนเรื่องนี้
ต่อให้สหรัฐอเมริกาจะเคยกดดันรัฐบาลพม่าในประเด็นสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะโรฮีนญามาก่อน การพบปะของเคอรี่กับซูจีที่เนปิดอว์เมื่อสัปดาห์ก่อนจึงต้องประกาศแถลงให้กับสื่อมวลชนทราบว่ามีประเด็นเรื่องนี้รวมอยู่ด้วย เพื่อให้โลกเห็นว่าสหรัฐยังมีท่าทีเดิม
มองเผินๆ เหมือนกดดัน เช่น ทูตสหรัฐปฏิเสธที่จะเรียกชนเหล่านั้นว่าเบงกาลีตามที่รัฐบาลพม่าต้องการ แต่ทว่าในทางปฏิบัติจริงสหรัฐก็ได้ให้ของขวัญพม่าด้วยการปลดล็อคมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมให้กับธนาคารของรัฐ และรัฐวิสาหกิจใหญ่ ยังคงเหลือการคว่ำบาตรหลักด้านการช่วยเหลือทางทหารเท่านั้น เพราะเงื่อนไขสำคัญมันเป็นไปตามกฎหมายของสหรัฐเอง นั่นก็คือเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ว่า
รัฐบาลอเมริกาเองคงไม่รู้จะตอบคำถามกับคองเกรสและประชาชนของตัวเองยังไง หากยกเลิกการคว่ำบาตรทุกชนิดหันไปญาติดีกับพม่า ในขณะที่พม่ายังคงไล่ล่าปฏิบัติกับโรฮีนญาแบบที่ไม่ใช่มนุษย์เท่าเทียมกันอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ดังนั้นคำแถลงต่อหน้าสื่อก็จะยังดูขึงขังเอาไว้ แล้วค่อยมากระซิบบอกกันในห้องประชุมว่ารีบๆ จัดการปัญหาให้มันดูดีมีคุณธรรมเหอะแม่คุณ จะได้เปิดค้าขายอาวุธแลกเปลี่ยนทุนกันได้เต็มตัวเพื่อบาลานซ์อำนาจกับจีนต่อไป แต่ที่แน่ๆ ประเด็นเรื่องชนกลุ่มน้อยมุสลิมในรัฐยะไข่ เป็นเงื่อนไขชั้นดีในเกมชิงไหวพริบระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ เพราะยะไข่เป็นพื้นที่ต้นทางของท่อน้ำมันข้ามประเทศจากอ่าวเบงกอลขึ้นไปถึงมณฑลยูนนานของจีน
โรฮีนญาเป็นปัญหาที่ทั่วโลกจับตามอง แถมยังเป็นหนึ่งในปัญหารวมของอาเซียนอีกต่างหาก ในอีกทางหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมพม่า มีคนพม่าจำนวนไม่น้อยที่เห็นโรฮีนญาเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นปฏิปักษ์กับศาสนาพุทธ ล่าสุดก็มีกลุ่มที่ไปตะโกนขับไล่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกากลับประเทศ ด้วยเหตุที่ยืนยันจะเรียกโรฮีนญา ไม่เรียก เบงกาลี ตามที่รัฐบาลพม่าร้องขอ… ดังนั้น ตราบใดที่อองซานซูจียังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นผู้นำเงาของรัฐบาลพม่า ตราบนั้นโรฮีนญาก็จะยังคงเป็นปัญหาของนาง มันไม่ได้จบลงบนโพเดียมแถลงการณ์ร่วมกับเคอรี่แต่อย่างใด
เมื่อปีกลาย-ปีก่อน เรืออพยพชาวโรฮีนญาเคยเป็นปัญหาใหญ่ให้กับเพื่อนบ้าน ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จนทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ว่าโรฮีนญาเป็นใคร มาปีนี้เรือมนุษย์ดูเหมือนจะลดลงจะด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็ตาม แต่ทว่าปัญหาโรฮีนญาในประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องพลอยแบกรับก็ยังไม่จบ อย่างล่าสุดที่พังงา มีชาวโรฮีนญาถูกยิงเสียชีวิตระหว่างหลบหนีการคุมขังที่ต.ม.พังงา คนกลุ่มนี้ถูกกักกันเอาไว้นานกว่า 2 ปีโดยไม่รู้อนาคต เพราะทางการไทยเองก็ไม่รู้ว่าจะส่งตัวกลับไปอย่างไร
แล้วก็ไม่ได้มีแค่ที่พังงาจังหวัดเดียว ยังมีชาวโรฮีนญาที่ถูกกักเอาไว้โดยไม่รู้ชะตากรรมแบบเดียวกันอีกหลายแห่งในประเทศไทย ส่วนในมาเลเซียนั้นก็มีโรฮีนญาอพยพเช่นกันมีบางส่วนที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลตุรกีสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแล ขณะที่ในอินโดนีเซียก็ยังมีอยู่ในค่ายผู้อพยพอีกราว 1,000 คน
ดูเหมือนว่าแนวทางจัดการปัญหาชนกลุ่มน้อยโรฮีนญาในรัฐยะไข่ของพม่าที่ดำเนินอยู่จะยังคงผลักดันให้พวกเขาต้องหนีตายดาบหน้าลงทะเลแสวงหาแผ่นดินอื่นอยู่เช่นเดิม พม่ายังไม่ยอมรับความมีอยู่และชี้ว่าพวกเขาเป็นชาวเบงกาลีลอบข้ามพรมแดนมา จึงไม่ได้สิทธิเสรีภาพใดๆ แม้กระทั่งการเดินทาง ในท่ามกลางกระแสสังคมแบบชาตินิยม-ศาสนานิยมที่กดดันพร้อมกันไป
การเมืองแบบระบบเลือกตั้ง ต้องการคะแนนเสียงสนับสนุน ทำให้อองซานซูจีกับพรรคเอ็นแอลดีของเธอเลือกเดินในแนวทางชาตินิยมชาวพุทธเอียงขวาต่อกรณีโรฮีนญา จนทำให้หลายๆ คนสงสัยในรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่เธอได้รับ
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโรฮีนญาไม่เหมือนชาวมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ที่อาศัยอยู่พื้นที่ตอนในของพม่าเช่นในเมืองมัณฑะเลย์ ก็มีชาวมุสลิมอยู่อาศัยหลายพันคนอย่างสงบสุข แม้จะได้รับผลกระทบบ้างตอนที่พวกขวาหัวรุนแรงปลุกระดมขับไล่และทำร้ายมุสลิม โดยที่สุดรัฐก็ยื่นมือมาไกล่เกลี่ยจัดการปรามกลุ่มหัวรุนแรงให้สงบลง มุสลิมในเมืองใหญ่อื่นๆ ก็เป็นแบบเดียวกับในมัณฑะเลย์ที่พวกเขาเลือกที่จะอยู่อย่างสงบเสงี่ยมในฐานะชนกลุ่มน้อย ไม่เหมือนกับในรัฐยะไข่ ที่ชาวโรฮีนญารวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น มีการสร้างประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ร่วมเป็นชุมชนใหญ่ และมีความหวังที่จะให้พม่ากำหนดเขตปกครองตนเองแบบที่เคยมีหลังได้รับเอกราชใหม่ๆ (แล้วถูกยกเลิกเมื่อเนวินรัฐประหารยึดอำนาจจากอูนุ)
ประเด็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมเป็นเรื่องใหญ่สากลและถูกจับตาจากโลกมุสลิมมาก่อนแล้ว และที่สำคัญที่สุด มันไม่ง่ายเพราะยะไข่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งความมั่นคงและการเศรษฐกิจของมหาอำนาจ
ในท่ามกลางแรงกดดันต่ออองซานซูจีและรัฐบาลพม่า เพื่อนบ้านที่ร่วมแบกรับปัญหาที่ตนไม่ได้ก่อ อย่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียก็พลอยอึดอัดไปด้วย.