การแข่งขันระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) : รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์


ในช่วงที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นได้มาเยือนไทยและมีการแถลงถึงความร่วมมือระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ในโครงการที่เกี่ยวกับลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะข้อเสนอที่ว่าด้วย Japan – Mekong Connectivity Initiative” ซึ่งเชื่อมโยงตอนใต้ของจีนกับ 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง นั่นคืออยู่ในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) อีกทั้งมีการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการเชื่อมโยงในส่วนที่เกี่ยวกับการคมนาคมและโลจิสติกส์จำนวน 245,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการพบปะกันครั้งนี้ ไทยได้มีการชักชวนให้ญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนในหลายโครงการ หนึ่งในโครงการคือ การสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ – เชียงใหม่

ทั้งนี้ในข้อตกลงจะทำเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกคือเชื่อมกรุงเทพฯ – ลพบุรี ช่วงที่ 2 คือเชื่อม ลพบุรี – นครสวรรค์ และช่วงที่ 3 คือเชื่อม นครสวรรค์ – เชียงใหม่ อีกหนึ่งโครงการคือการพัฒนาความร่วมมือของไทยกับญี่ปุ่นในการเชื่อมโยงทวายของพม่ามาสู่แหลมฉบังของไทย อีกหนึ่งโครงการที่ไทยต้องการให้ญี่ปุ่นลงทุนคือ การเชื่อมโยงกาญจนบุรี – กรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา – อรัญประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นสนใจในโครงการดังกล่าวและเห็นว่าไทยเป็นตัวแปรหรือหัวหอกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงดังกล่าว ญี่ปุ่นเห็นว่ากรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) จะทำให้เกิดการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ เกิดการเชื่อมโยงทางด้านการ่องเที่ยว การลงทุน การบริการ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นกุญแจสำคัญทั้งด้านของจุดที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และความพร้อม ความก้าวหน้าทางด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนจึงขึ้นอยู่กับการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะการขนส่งและโลจิสติกส์ซึ่งนั่นคือที่มาของการจัดตั้ง “Japan – Mekong Connectivity Initiative”

กรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของไทย รัฐบาลไทยปัจจุบันได้วางแผนยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงไทยกับกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นโครงการต่อเนื่อง 8 ปี โดยสร้างความเชื่อมโยงเรื่องการพัฒนาท่าเรือ สนามบิน การขนส่งทางบกทั้งทางถนนและรถไฟ ทั้งภายในและประเทศเพื่อนบ้านในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Cluster) โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Cluster) ที่เคยพูดคุยมาแล้ว เช่น ในด้านท่องเที่ยว ด้านอาหาร ด้านเกษตร ด้านสุขภาพ เป็นต้น กับอีกกลุ่มคือ Cluster ในอนาคตเกี่ยวกับการพัฒนา IT ไบโอเทคโนโลยี พลังงานทดแทน ทั้ง 2 กลุ่มรวมกัน 10 cluster นอกจากนั้นยังมีการเชื่อมโยง cluster เหล่านี้ให้เป็น Super cluster โดยจะมีกรอบอยู่ตามเส้นทางที่เชื่อมกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) การเชื่อม cluster เหล่านี้จึงจำเป็นต้องพัฒนาความเชื่อมโยง (Connectivity) ในด้านขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งญี่ปุ่นได้เห็นทิศทางดังกล่าวจึงได้นำเสนอโครงการพร้อมกับเงินช่วยเหลือและตรงกับความต้องการของไทยและประเทศอื่น ๆ ในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)

นโยบายของญี่ปุ่นที่กล่าวถึงนี้ ความจริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหมากรุกทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างญี่ปุ่นกับจีน โดยใช้เวทีกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นเกม ดังนั้นจึงมีการวิเคราะห์ว่า “Japan – Mekong Connectivity Initiative” เป็นปฏิกิริยาอันเกิดการจัดตั้งโครงการ “Mekong – Lancang cooperation” ซึ่งเป็นข้อเสนอของจีนจากนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ปี 2014 และเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้วก็มีการประชุมครั้งแรกที่ Lancang ความร่วมมือระหว่างจีนกับ 5 ประเทศในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) คือความร่วมมือพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงทั้งด้านการค้า การบริการ การท่องเที่ยว และสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยมีการกำหนดโครงการประเภทที่ริเริ่มได้เร็ว (Early Harvest) นอกจากกรอบดังกล่าว จีนก็ทำข้อตกลงกับไทยในการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างหนองคาย – มาบตาพุด และเชื่อมยูนยานกับเวียงจันทร์ อันเป็นส่วนหนึ่งของกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) อย่างไรก็ตาม โครงการหนองคาย – มาบตาพุด ควรเริ่มต้นตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว แต่เนื่องจากยังหาข้อตกลงกันไม่ได้เรื่องอัตราดอกเบี้ยและผลประโยชน์ที่ต้องแบ่งกันจึงยังอยู่ในการชะลอโครงการไว้

ถ้าพิจารณาข้อเสนอทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่า “Japan – Mekong Connectivity Initiative” ของญี่ปุ่นหรือ “Mekong – Lancang cooperation” ของจีน ภาพฉายที่เห็นได้ชัดคือ การต่อสู้เพื่อแย่งเค้กของ 2 มหาอำนาจในเอเชีย อีกทั้งการแย่งชิงพันธมิตรในกลุ่มอาเซียน นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยหนึ่งในเวทีก็คือ กรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยสำหรับจีนแล้ว กรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ยังเป็นกรอบในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่เชื่อมกับโครงการ One Belt One Road หรือเส้นทางสายไหมอันใหม่ของจีนอีกด้วย

ภูมิภาคอาเซียนจึงเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตสูงมากและเนื้อหาการเปลี่ยนแปลงส่วนมากเกิดจากพลวัตการเปลี่ยนแปลงในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) นั่นเอง