บูรพา-อาคเนย์ ตอนเมื่อญี่ปุ่น(จำใจ)อนุญาตคนสักร่างกายลงออนเซน : บัณรส บัวคลี่


ธรรมเนียมดั้งเดิมในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ผู้ที่สักร่างกาย หรือ อิเรซุหมิ  Irezumi  มักจะเป็นพวกยากูซ่า เป็นแก๊งอิทธิพลนอกกฎหมาย คนที่สักร่างกายจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้สถานที่อาบน้ำออนเซนร่วมกับชาวบ้านชาวเมืองอื่น

แต่ธรรมเนียมดังกล่าวกำลังจะได้รับการข้อร้องให้ปรับเปลี่ยน หรืออย่างน้อยก็ผ่อนคลายลงโดยหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล Japan Tourism Agency (JTA) ซึ่งกำลังตั้งหน้าตั้งตาบูมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นชนิดติดจรวด ตั้งเป้าหมายจะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปี 2020 ถึง 20 ล้านคน ซึ่งในปีดังกล่าวโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิคอีกด้วย ดังนั้นกิจกรรมอะไรที่เป็นอุปสรรคของการดึงดูดคน (และรายได้) เข้ามา หากว่ามันไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ควรจะปรับเปลี่ยนได้ ดั่งเช่น ธรรมเนียมการห้ามคนสักร่างกายลงออนเซนเป็นต้น

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นรายได้ตัวใหม่ที่กำลังหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แล้วอัตราการเติบโตของบางกลุ่มก็ขยายพรวดเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ในช่วง 3-4 ปีมานี้  นโยบายผ่อนปรนวีซ่าสำหรับชาติในเอเชียอาคเนย์ ไทย อินโดนีเซียเมื่อ 3 ปีก่อนก็เป็นหนึ่งในแพกเกจของนโยบายดังกล่าว คิดดูเหอะอัตราเดินทางเข้าญี่ปุ่นของพี่ไทยในปี 2556 หลังจากฟรีวีซ่าเพิ่มขึ้นถึง 78% จากนั้นไทยก็ติดอันดับต้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าญี่ปุ่นรองจากพวกเอเชียตะวันออก จีน ไต้หวัน เกาหลี แค่นั้นเอง

index4

ย้อนกลับไปดูอดีตระยะไม่กี่ปี จะเห็นได้ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าพลิกดิน ญี่ปุ่นนั้นมีจุดเด่นในอุตสาหกรรมการผลิตคิดค้น ไม่มีความเด่นในเรื่องการบริการท่องเที่ยว แม้แต่อาหารญี่ปุ่นในประเทศเอง มีไม่น้อยที่พูดอังกฤษไม่ได้ และดูไม่เป็นมิตรกับต่างชาติเท่าใดนัก … แต่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อปี 2003 (2546) สถิตินักท่องเที่ยวเข้าญี่ปุ่นมีแค่ 5.2 ล้านคน JTA เคยพยายามตั้งเป้าหมายให้เพิ่มเป็น 10 ล้านคนภายในปี 2010 (2553) แต่ก็ยังไปไม่ถึง ไม่เพียงเท่านั้นพอปีรุ่งขึ้นเกิดมาเจอแผ่นดินไหวใหญ่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดอีก ยอดนักท่องเที่ยวก็วูบหายจมไปอีก เป้าหมายอะไรที่ตั้งไว้ออกจะเป็นความฝันเฟื่อง

วงการท่องเที่ยวญี่ปุ่นพลิกเปลี่ยนหลังจากจมวูบไปกับแผ่นดินไหว เป็นโชคดีด้วยที่หลังจากนั้นค่าเงินเยนอ่อนดึงดูดให้คนเข้าไปใช้จ่าย แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือนโยบายการรุกหาตลาดใหม่ ประเทศที่ไม่เคยให้ฟรีวีซ่าก็เปิดให้ ไทยเราก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

ปี 2013 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เปิดให้หลายประเทศเข้าโดยไม่มีวีซ่า สถิตินักท่องเที่ยวก็ขึ้นไปแตะ 10 ล้านคนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ (โดยมีคนไทยและชาติอาเซียนจำนวนไม่น้อยร่วมสร้างสถิตินั้น)

JTA ตั้งเป้าหมายอย่างทะเยอทะยานมาก ปี 2020 จะให้เป็น 20 ล้านคน และปี 2030 จะดันยอดนักท่องเที่ยวเข้าญี่ปุ่นให้ได้ 30 ล้านคน/ปี

แล้วเขาก็ทำกันจริงๆ มีข้อเสนอมากมายเพื่อปรับเปลี่ยนญี่ปุ่นให้รองรับปริมาณของแขกบ้านแขกเมือง ซึ่งแน่นอนธรรมชาติคนญี่ปุ่นค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม มีพื้นที่ส่วนตัว ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง แต่ในเมื่อรัฐมองว่าอุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจที่มาหมุนญี่ปุ่นในยุคหน้า (ปี2013 ที่มีคนเข้ามา 10 ล้านคน คำนวณรายได้เข้าประเทศ 48.8 ล้านล้านเยน / ตำแหน่งงาน 4.19 ตำแหน่ง น้อยซะที่ไหน)

เขาจึงต้องพยายามปรับ เช่น ทราบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จีน เกาหลี ไทย ทั้งหลายที่ไปสัมผัสรอบๆ ฟูจิซัง ต้องการสัญญาณไวไฟเพื่อจะเซลฟี่ และก้มหน้าติดต่อแชตไลน์ได้ตลอด รัฐบาลเขาก็ติดตั้งไวไฟในพื้นที่ท่องเที่ยวรอบๆ ฟูจิซัง จากนั้นก็พยายามเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ไม่ใช่แค่ โตเกียว โอซาก้า เกียวโต ฯลฯ

การจะโน้มน้าวให้ออนเซนน้อยใหญ่อนุญาตให้ผู้สักร่างกายเข้าใช้บริการเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะมันเป็นวัฒนธรรมที่มีรากฝังอยู่ และออนเซนเหล่านั้นก็เป็นของเอกชน จะให้บริการใครหรือจะปฏิเสธใครก็เป็นสิทธิ์ของเขา เมื่อปี 2013 ปีแรกที่การท่องเที่ยวบูมหลังเหตุโรงไฟฟ้าระเบิด หญิงวัย 60 ปีจากนิวซีแลนด์ซึ่งสักร่างกายตามความเชื่อวัฒนธรรมถูกออนเซนที่ฮอกไกโดปฎิเสธ นี่เป็นกรณีที่ถูกกล่าวถึงมากเพราะหญิงชราต่างชาติที่สักเพราะวัฒนธรรมความเชื่อท้องถิ่นนิวซีแลนด์มันเป็นคนละเรื่องกับยากูซ่า แก๊งอันธพาลตามจารีตแบบญี่ปุ่น

หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นจึงต้องพยายามรณรงค์บอกว่ารอยสักของแต่ละวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน บ้างเป็นความเชื่อศาสนา บ้างเป็นแฟชั่นและที่สำคัญไม่มีผลต่อสุขภาพความสะอาดของอ่างน้ำรวม อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น

ไม่รู้ว่าการรณรงค์นี้จะได้ผลแค่ไหน แต่ก็น่าจะผ่อนคลายโดยลำดับนั่นล่ะ เศรษฐกิจญี่ปุ่นติดในกับดักอยู่นานเพราะคนไม่ใช้จ่าย มาเจอใครไม่รู้เป็นล้านๆ คนเข้ามา แล้วก็ควักจ่ายๆๆ ไทยเราว่าเป็นนักชอปปิ้งแล้ว ปรากฏว่าทัวร์จีนก็ควักจ่ายสะบั้นยิ่งกว่าเสียอีก มีออนเซนจำนวนหนึ่งที่ผ่อนคลายธรรมเนียมเดิมอนุญาตให้ผู้ที่มีรอยสักเข้าใช้บริการบ้างแล้ว และออนเซนเหล่านั้นได้กลายเป็นที่โจษขานในกลุ่มชาวต่างชาติบอกต่อกันทางอินเตอร์เน็ตเพื่อไปใช้บริการ

กิจการของญี่ปุ่นอีกจำนวนหนึ่งพยายามจะนำเสนอนักท่องเที่ยวที่มีรอยสักว่า สามารถจะออนเซนได้ โดยไปใช้บริการจากเรียวกังที่มีออนเซนในห้องส่วนตัว นั่นก็เป็นทางออกไปอีกแบบ

 

 อ่านประกอบ -Find an effective tourism strategy http://www.japantimes.co.jp/opinion/2016/05/07/editorials/find-effective-tourism-strategy/#.V3h4K9J97Eb

Japan tourism agency asking onsen owners to relax tattoo policies http://www.stripes.com/news/japan-tourism-agency-asking-onsen-owners-to-relax-tattoo-policies-1.401147

Are people with tattoos allowed in onsen? http://www.kashiwaya.org/e/magazine/onsen/tattoos.html