บัณรส บัวคลี่
ประเทศญี่ปุ่นเปิดฉากการเจ้าภาพกีฬาโลกครั้งหน้าในพิธีปิดโอลิมปิก ริโอ 2016 ชนิดที่ขโมยซีน แย่งบทเด่นจากเจ้าภาพบราซิลแบบไม่เห็นฝุ่น เพราะคนทั้งโลกต่างพูดถึงนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ สวมชุดการ์ตูนเกมมาริโอ้โผล่ขึ้นมาจากท่อสีเขียวอันเป็นสัญลักษณ์ที่คนทั้งโลกรู้จักดี เพื่อร่วมพิธีส่งต่อเจ้าภาพครั้งหน้า ไม่ใช่แค่นั้นการแสดงของญี่ปุ่นก็อลังการงานสร้าง เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานเทคโนโลยีไฮเทคกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างลงตัว
เริ่มต้นโอลิมปิกรอบใหม่2020 ให้เปิดฉากในใจผู้ชมทั่วโลกไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่เวลายังอยู่ห่างอีกตั้ง 4 ปี นาทีนี้ แทบทั่วโลกต่างรับรู้ชนิดที่ไม่ต้องเปิดกูเกิ้ลค้นแล้วว่า โตเกียวจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งหน้า
หลังจากนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเบื้องหลังแนวความคิดการ์ตูนมังงะชุดนี้ออกมามายมาย หาได้จากทั้งสื่อไทยและต่างประเทศ
โดยส่วนตัวผมชอบบทวิจารณ์ในเฟซบุ้ค ของคุณ Trachoo Kanchanasatitya ที่มองว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนปลุกเศรษฐกิจใหม่ญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Japan Cool แผนดังกล่าวจัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น หรือ METI ที่พบว่าอุตสาหกรรมจากวัฒนธรรม 5 กลุ่ม คือ การ์ตูน อาหาร บริการส่งสินค้าถึงที่ โรงแรมแบบเรียวกัง และศิลปะหัตถกรรม Anime/Manga , Food, Delivery Service, Traditional Hotel (Ryokan) และ Traditional Art and Craft
ผมเห็นด้วยกับที่เขาสรุปว่า ญี่ปุ่นวางยุทธศาสตร์ของประเทศห้อมล้อม 5 วงการนี้เอาไว้ ดังนั้นภาพลักษณ์ของประเทศจึงถูกวางไว้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปในทางนี้
สามสี่ปีมานี้ ญี่ปุ่นพยายามอย่างหนักที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของตนจากกับดักเงินฝืด ดอกเบี้ยติดลบ ผู้คนไม่ใช้จ่าย ด้วยความพยายามใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยว พยายามเปิดประเทศ ลดเงื่อนไขเข้มงวดให้วีซ่าชาวต่างชาติลง คนไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนจึงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวลำดับต้นที่ไปเยือนญี่ปุ่น ไม่เพียงเท่านั้นเขายังพยายามรณรงค์ให้ผู้คนของเขาปรับเปลี่ยนความคิดที่เป็นอุปสรรครองรับการท่องเที่ยว เช่นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเขาที่ห้ามผู้ที่สักร่างกายเข้าห้องน้ำสาธารณะหรือ ออนเซน บัดนี้ก็พยายามเปิดกว้างขึ้นให้กับการท่องเที่ยว ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ (คลิกอ่าน) บูรพา-อาคเนย์ ตอนเมื่อญี่ปุ่น(จำใจ)อนุญาตคนสักร่างกายลงออนเซน
การท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจใหม่ Japan Cool ที่มุ่งขายสินค้าทางวัฒนธรรม ที่พักเรียวกัง ห้องน้ำแบบออนเซน กินอาหารญี่ปุ่น ไปดู J-POP และย่านแฟชั่นฮาราจูกุ ซึ่งล้วนแต่เป็นวัฒนธรรมเฉพาะที่ชาติอื่นไม่มี เป็น Soft Power ที่จะพลิกฟื้นญี่ปุ่นในอนาคต เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ ที่กำลังมาทดแทนคนรุ่นเก่า ญี่ปุ่นได้ก้าวเป็นประเทศสูงวัยไปแล้ว สัดส่วนของผู้สูงอายุในอีก 10-20 ปีข้างหน้าเกือบจะเป็นครึ่งๆ ของประชากรวัยอื่น Japan Cool จึงเป็นโลกเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่ที่เขาวาดหวังไว้
ญี่ปุ่นจะอาศัยโอลิมปิกเป็นกระดานหก เพื่อเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวเป็น 20 ล้านคน/ปี ภายในปี 2020 นี้ ซึ่งถ้าดูจากสถิติที่พุ่งพรวด สายการบินที่เพิ่มขึ้นตลอดเขาคงจะบรรลุเป้าได้ไม่ยาก
เอกสาร Cool Japan 2012 จัดทำได้อย่างน่าสนใจมาก เหมาะสำหรับนักธุรกิจ นักวางแผน จนกระทั่งหน่วยงานส่งเสริมภาครัฐได้อ่านเพื่อศึกษาดูวิธีการของเขา กระทรวง METI ของญี่ปุ่นทำงานเชิงวิจัยตลาด และประมวลผลเพื่อนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์ได้อย่างรอบด้านและน่าทึ่งในวิธีนำเสนอ เป็นเอกสารทีมีคุณค่ามาก อยากให้คลิกอ่านกันครับ Cool Japan Strategy
แต่อย่างไรก็ตาม แทบทุกเส้นทางในโลกของความเป็นจริงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนและยังเต็มไปด้วยปัญหาปลีกย่อย การก่อสร้างสนามกีฬาและการเตรียมการหลายอย่างมีปัญหาและส่อว่าจะบานปลาย นี่จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างความพยายามบูมเศรษฐกิจด้วยแนวคิดใหม่ กับ แรงตกจากปัญหาสะสมดั้งเดิมที่กำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจสังคมให้จมลง
ในระหว่างนี้เราคงจะได้เห็นกระบวนท่าขายสินค้าวัฒนธรรม และศักยภาพการนำเสนอ soft power ของญี่ปุ่นในรูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากลีลาสวมชุดมาริโอ้ของนายกรัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนท่วมท้นไปแล้ว