บัณรส บัวคลี่
1.กรณีโรฮีนจา
รัฐบาลพลเรือนพรรค NLD นำโดยอองซานซูจี ที่ชนะเลือกตั้งถล่มทลายเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2558 กำลังจะก้าวเข้าสู่วาระครบรอบหนึ่งปี แต่ดูเหมือนว่าห้วงเวลาแห่งน้ำผึ้งพระจันทร์ดูจะน้อยเหลือเกิน ซูจีอุตส่าห์เปิดเวทีเจรจาสันติภาพปางหลวงแห่งศตวรรษ 21 อย่างเอิกเกริกที่เนย์ปิดอว์ ประชุมรอบแรกไปไม่ทันไรก็เกิดเหตุฆ่าฟันชาวโรฮินจาที่รัฐยะไข่ แล้วก็เหตุกองกำลังชนกลุ่มน้อย 4 กลุ่มจับมือกันถล่มทหารพม่ากลางถนนหลวงที่ละแวกเมืองมูเจ่ (Muse) ใกล้พรมแดนจีนด่านหยุยลี่ (Rulli) มีราษฎรเสียชีวิต จนบัดนี้สถานการณ์ก็ยังไม่ดี ชาวคะฉิ่น ชาวไตและราษฎรละแวกนั้นอพยพข้ามแดนลี้ภัยไปจีนหลายพันคน ด่านการค้าสำคัญที่มีรถบรรทุกเข้าออกวันละเป็นร้อยคันปิดโดยปริยาย
เฉพาะสองเหตุการณ์ใหญ่ที่เป็นข่าวระดับนานาชาติ (ไม่รวมข่าวภายในประเทศ) สะท้อนว่าเจตนารมณ์ของอองซานซูจีตลอดถึงภาวะและบรรยากาศของรัฐบาลพลเรือนยังไม่ได้ช่วยให้ปัญหารากเหง้าระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ให้กระเตื้องขึ้นตามหวัง และที่สำคัญที่สุด ยิ่งโลกเคลื่อนไปข้างหน้าปมปัญหาก็ซับซ้อนขึ้นๆ
เรื่องมุสลิมและโรฮีนจาก็ปมหนึ่ง – โรฮีนจาเป็นบาดแผลดั้งเดิมผลพวงมาจากยุคอาณานิคม จากเดิมที่เป็นเรื่องภายในแทบไม่มีโลกภายนอกรู้จัก คนไทยเมื่อ 10 ปีก่อนก็ไม่รู้จักมักจะเรียกเหมารวมพวกที่มาจากอาระกันว่าชาวยะไข่ตามที่เคยเรียก แต่มายุคนี้ โรฮีนจายกระดับเป็นประเด็นนานาชาติไปแล้ว UN จับตา แถมโลกมุสลิมร่วมกดดัน มาเลเซียถึงกับจะถอนทีมฟุตบอลไม่ร่วมลงแข่งเอเชียนซูซูกิคัพเป็นการประท้วง นี่เป็นประเด็นที่นานๆ ครั้งจะเห็นชาติตะวันตกกับโลกมุสลิมเห็นพ้องร่วมกัน ก็ว่าได้ เรื่องนี้ปิดไม่อยู่แล้ว NGOs สื่อตะวันตกและเครือข่ายสื่อมุสลิมเกาะติดเหตุการณ์อยู่แล้ว กรณีโรฮีนจานี้ทหารพม่าหรือ ต๊ะมาต่อ (Tadmadaw)รับหน้าเสื่อดำเนินการทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามมันก็เลี่ยงไม่ได้ที่ผลของมันจะย้อนมากระทบรัฐบาลพลเรือนที่ร่วมบริหาร
กรณีนี้มีผลต่อภาพลักษณ์โนเบลสันติภาพของนางอองซานซูจีในอีกทางหนึ่ง
2.กรณีชนกลุ่มน้อยในรัฐฉานเหนือ
ส่วนการปะทะกันที่รัฐฉานเหนือ ใกล้ชายแดนจีนเมื่อกลางสัปดาห์ของเดือนพฤศจิกายนนี่ยิ่งซับซ้อน เพราะมันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองความสัมพันธ์กับจีนที่มีอิทธิพลตามแนวชายแดนแถวนั้น
ซึ่งจะว่าไป…รัฐบาลพม่าที่ย่างกุ้ง หรือเนย์ปิดอว์ ไม่เคยมีอิทธิพลและอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงในเขตชายแดนด้านนี้เลย ในสมัยรัฐบาลเต็งเส่งก่อนการเลือกตั้งราวหนึ่งก็เกิดเหตุปะทะกับกองทัพจีนเพราะติดตามพัวพันรบกับกองกำลังกู้ชาติคะฉิ่นข้ามแดนไป ถึงขนาดทำให้พญามังกรต้องฮึ่มฮั่มจัดซ้อมรบขู่มาแล้ว
พม่ากำลังเติบโตทางเศรษฐกิจชนิดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ตัวเลขการเติบโตพรวดๆ 8-10% ต่อเนื่องมา พอเป็นรัฐบาลจากเลือกตั้งชาติตะวันตกก็อ้าแขนรับ สหรัฐอเมริกาเพิ่งประกาศยกเลิกการแซงก์ชั่นและบอยคอตทุกชนิด ซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมหยกและอัญมณีที่พม่ามีทรัพยากรชนิดนี้มากมาย คะฉิ่นและรัฐฉานเหนือเป็นพื้นที่ผลประโยชน์ของเหมืองหยกและอัญมณีสำคัญ ก่อนหน้านั้นทหารพม่าและทุนท้องถิ่นทำมาหากินกับหยกอัญมณีแบบผูกขาด ส่วนตลาดต่างชาติสำคัญก็คือจีนมีพ่อค้าจากเพื่อนบ้านไทย อินเดียที่เคลื่อนไหวไปซื้อถึงตลาดกลาง ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษริมชายแดนหยุยลี่ก็มีตลาดหยกสำคัญตั้งอยู่… โครงสร้างผลประโยชน์เดิมมันเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่ นโยบายใหม่ และการเปิดกว้างใหม่ๆ โครงสร้างของระบบก็เปลี่ยนแปลงไป
กองทัพพม่าแข็งแกร่งขึ้นมาก แต่สำหรับกองกำลังชนกลุ่มน้อยรัฐคะฉิ่นอาจจะไม่ใช่แค่ชนกลุ่มน้อยธรรมดา เพราะต้องมองถึงพื้นที่อิทธิพลของจีนเข้ารวมไปด้วย เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดีนักต่อรัฐบาลพลเรือน NLD รวมถึงกองทัพพม่า เพราะต่อให้สงบลงมีการเจรจากันได้ ก็ยังหมายถึงอำนาจต่อรองและไพ่ที่อยู่ในมือของกองกำลังท้องถิ่นรัฐคะฉิ่นที่มีน้ำหนักขึ้น ล่าสุดกองทัพจีนได้ประกาศเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุไม่ปกติชายแดนพม่า นี่เป็นปฏิกริยาปกติหรือเป็นส่วนหนึ่งของการต่อรองทางการเมืองในเขตพรมแดนเพื่อนบ้านสามารถมองได้ทั้งสองมุม
ที่จริงแล้ว การเจรจาต่อรองสันติภาพหรือวางอาวุธใดๆ มันมีเรื่องข้อต่อรองด้านผลประโยชน์และธุรกิจตามมาด้วย ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติ (มากๆ) ของการเมือง และเกิดขึ้นให้เห็นมานานแล้ว รูปธรรมชัดเจนก็คือตามละแวกพรมแดนบ้านเรานั่นเลย
- เหตุ (เหมือน) ไม่ปกติที่ชายแดนแม่สอด
พม่าเริ่มปฏิรูปการเมืองตั้งแต่ 2011 ระหว่างนั้นก็เริ่มเจรจากับชนกลุ่มน้อยวางอาวุธ อันหมายความว่า นอกจากวางอาวุธแล้วยังสามารถทำมาหากินแบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ บรรยากาศการค้าขายลงทุนชายแดนก็เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นชัดเจน
อย่างเช่นด่านชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก ก่อนหน้านั้นพื้นที่แม่สอดเป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังกะเหรี่ยง การทำมาค้าขาย ไปตั้งบ่อน ตัดไม้ หรือการส่งสินค้าเดินทางทั้งหลาย ขอแค่ได้ตั๋วจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยเจ้าของพื้นที่ก็สามารถทำได้สบาย เพราะทหารพม่าอย่างเก่งก็มีค่ายอยู่ในเมืองเท่านั้น พ้นออกนอกเมืองไปก็เป็นพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยไปแล้ว
จนต่อมาเมื่อ KNU แตกออกเป็นกระเหรี่ยงพุทธ DKBA โครงสร้างความสัมพันธ์ต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามพลังอิทธิพลของกองกำลังท้องถิ่น ต่อมา ทหารพม่าขยายพื้นที่เข้ามาสู่เมืองเมียวดีและด่านชายแดนมากขึ้น สามารถคุมพื้นที่มากขึ้นๆ จนสามารถเจรจากับกองกำลังกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งให้เข้าร่วมกับรัฐบาล แยกออกมาตั้งเป็นกองกำลังรักษาชายแดน BGF
แปลว่าดุลกำลังทางทหารของฝ่ายทหารพม่าในพรมแดนด้านนี้เหนือกว่ากองกำลังท้องถิ่นอย่างชัดเจน ก่อให้เกิดการเจรจาสงบศึกต่างๆ ตามมา และแน่นอนว่า ทหารพม่าก็ต้องมอบผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับ BGF ไว้ทำมาหากินด้วย มันถึงเกิดมีบ่อนคาสิโน คอมเพล็กซ์เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ดิวตี้ฟรีต่างๆ ขึ้นมา เพื่อเป็นหม้อข้าวให้กับกองกำลังสวามิภักดิ์ดังกล่าว
ประเทศไทย พ่อค้าไทย และการค้าของไทยได้ประโยชน์จากความสงบในเขตเพื่อนบ้าน สามารถเจรจาก่อสร้างถนนตัดภูเขาจากเมียวดีไปยังกอกะเร็ก เพื่อเชื่อมไปยังพื้นที่ชั้นใน ถนนเส้นนี้เดิมเป็นทางเล็กๆ เลาะสันเขา รถแล่นสวนไม่ได้ต้องสลับวันไป-มา และแน่นอนต้องจ่ายค่าผ่านด่านคุ้มครองให้กองกำลังท้องถิ่นด้วย ถนนเส้นนี้สร้างเสร็จมาปีกว่าแล้ว ยังประโยชน์ให้กับการค้าและคมนาคมของฝ่ายไทยเยอะทีเดียว
ผลประโยชน์หลักของฝ่ายไทยก็คือการค้า เมื่อมีถนนชั้นดีช่วยเอื้อในการขนส่งด่านชายแดนด้านนี้ยิ่งทวีความสำคัญขึ้น รัฐบาลจึงมีการเร่งรัดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอดขึ้นมา ดึงดูดกิจกรรมการลงทุนการค้าชายแดนให้อยู่ในฝั่งไทย เพราะต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์หลักของไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มองถึงกิจกรรมด้านอื่นมากนัก ทั้งเรื่องโรงงาน แรงงาน เม็ดเงินลงทุน กิจกรรมการค้าและบริการต่อเนื่องในระดับพื้นที่… เพราะแม่สอดเป็นฐานส่งออกที่ไทยได้เปรียบมานานแล้ว จนกระทั่งพม่าเริ่มเปิดประเทศ ฝั่งเมียวดีมีความคึกคักของผู้คน กิจกรรมการค้าและบริการมากกว่าด่านแม่สอดเสียอีก บ่อนคาสิโนในเขตเมียวดี ที่บางแห่งตั้งประชิดแม่น้ำสายแค่ข้ามเรือนิดเดียวก็เข้าได้ เป็นแหล่งผลประโยชน์สำคัญดึงดูดเงินคนไทย กิจการดังกล่าวมีหน้าฉากเป็นของกะเหรี่ยง BGF แต่ที่จริงมันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของอำนาจทางทหารและทางการเมืองที่ใหญ่กว่า เมื่อทหารหรือตำรวจไทยพยายามขัดขวางการข้ามฟาก ก็มักจะมีการประท้วงปิดด่านชายแดนบ้าง เป็นการกดดันเพื่อต่อรองและก็มักจะสำเร็จเสมอ
ปรากฏการณ์ผลประโยชน์ร่วมระหว่างทหารพม่า กองกำลังท้องถิ่นสวามิภักดิ์ (และอาจรวมถึงคนมีสีในไทยจำนวนหนึ่ง) ในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนคือรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดของโมเดลการพยายามเจรจาสงบศึกและแบ่งผลประโยชน์ให้กับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่บ้างก็วางอาวุธและยอมรับแนวทางแบ่งปันอำนาจผลประโยชน์นั้น
แต่บ้างก็ยังไม่ยอม เช่นที่เกิดขึ้นที่รัฐคะฉิ่น ตลอดถึงในรัฐฉานตอนเหนือและบางจุดในรัฐฉานใต้
แปลว่าเวลาประมาณ 1 ปีที่อองซานซูจีพยายามจะสร้างบรรยากาศใหม่ เกิดการเจรจาต่อรองบนผลประโยชน์ร่วมกันในนามของสันติภาพยังไม่เกิดขึ้นจริง อย่างน้อยก็ในพื้นที่ซึ่งยังมีการสู้รบ
- ความฝันเอกชนจะเปิดด่านพรมแดนเพิ่ม ยังไม่เป็นจริง
ความฝันของนักธุรกิจชายแดนที่ด่านแม่สาย ตลอดถึงหอการค้าภาคเหนือตอนบนที่อยากจะเห็นการพัฒนาเส้นทางการค้าชายแดนเชื่อมจากเส้น R3B แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เมืองลา-ด่านหยุยลี่จีน เพิ่มเติมให้สามารถข้ามไปรัฐแนตอนใน จากเชียงตุง ไปถึงเมืองตองยีที่เป็นเมืองหลวงของรัฐฉานที่จะเข้าสู่พม่าตอนในได้ ถึงขนาดอยากให้รัฐบาลไทยไปช่วยพัฒนาเส้นทางถนนจากเชียงตุงไปถึงเมืองตองยี แบบเดียวกับที่ช่วยพม่าทำถนนจากเมืองเมียวดี-กอกะเร็กสำเร็จมาแล้ว
แต่ความฝันดังกล่าวนั้นยังไม่เป็นความจริง อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาปีสองปีจากนี้ เพราะในรัฐฉานยังมีกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ร่วมเจรจา แถมมีการปะทะกันบ่อยครั้ง
เช่นเดียวกับด่านพรมแดนด้านอื่นที่เอกชนหรือกกร.จังหวัดพยายามที่จะผลักดันให้เปิดเป็นด่านสากล ทั้งด่านห้วยต้นนุ่น หรือห้วยผึ้ง ที่แม่ฮ่องสอน หรือด่านกิ่วผาวอกที่เชียงใหม่ เพราะต่อให้พม่ามีพัฒนาการเปลี่ยนผ่านมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งแต่ทว่าสถานการณ์ภายในยังไม่ดีขึ้นอย่างที่คาด
- ภาพลักษณ์ของอองซานซูจี
อองซานซูจี เป็นความหวังของชาวพม่าส่วนใหญ่หวังจะให้มาแทนที่อำนาจปกครองทหาร มีสิ่งที่ดีๆ จากรัฐบาลพลเรือนสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน จนเมื่อใกล้จะถึงวาระหนึ่งปีเลือกตั้งใหญ่ สื่อมวลชนใหญ่ที่เคยหนุนรัฐบาลกลับมีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลซูจี-ถิ่นจอ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นการไม่สามารถดูแลความสงบเรียบร้อยและการทุจริตคอรัปชั่น สื่อมวลชนรายสำคัญเพิ่งถูกคนในรัฐบาลแจ้งความจับในข้อหาหมิ่นประมาทผ่านสื่อโทรคมนาคมออนไลน์ กล่าวหานักการเมืองรับสินบนเป็นนาฬิกาข้อมือจากพ่อค้ายาเสพติด การ์ตูนนิสต์ในหลายสื่อ เริ่มสะท้อนภาพความไม่พึงพอใจ และภาพของความยากลำบากที่ซูจีกำลังเผชิญบ่อยขึ้นอย่างชัดเจน
มันแสดงออกถึงวาระสิ้นสุดของห้วงเวลาแห่งน้ำผึ้งพระจันทร์ ปีหน้า 2560 จะเป็นปีแห่งความยากลำบากของรัฐบาลพรรค NLD ปธน.ถิ่นจอและนางอองซานซูจีผู้นำโดยพฤตินัย .