คำถามที่ผมมักได้รับจากเอสเอ็มอีอยู่เนืองๆ จะมีอยู่สองข้อใหญ่ๆ คือ มีหลักการอะไรในการทำธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ และมีหลักการอะไรในการทำธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จนั้นให้ยั่งยืน
ในข้อแรก ผมเองนั้น มิใช่นักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ หรือเป็นวิทยากรในแวดวงนี้โดยตรง เลยต้องยกข้อธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขึ้นมาอ้าง เพื่อจะได้ไม่พาเอสเอ็มอีออกทะเลหรือลงเหว เป็นบาปกรรมต่อกันเสียเปล่าๆ
ข้อธรรมที่จะขอยกมาใช้กับการตอบคำถามข้อแรกนี้ ก็คือ ปาปณิกธรรม 3 ที่ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่านพระเดชพระคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้สาธยายไว้ว่า ปาปณิกังคะ หรือ หลักพ่อค้า, องค์คุณของพ่อค้า (qualities of a successful shopkeeper or businessman) ประกอบด้วย จักขุมา – ตาดี (รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไร แม่นยำ) วิธูโร – จัดเจนธุรกิจ (รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวความต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า) นิสสยสัมปันโน – พร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย (เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆ หาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการโดยง่าย)
ในองค์ประกอบแรก น่าจะตรงกับคำว่า ขีดความสามารถ หรือความสามารถที่จะทำงานนั้นได้สำเร็จลุล่วง เป็นเรื่องของ Competency ส่วนองค์ประกอบที่สอง น่าจะตรงกับคำว่า สมรรถภาพ เป็นเรื่องของการดูแลดำเนินงานหรือจัดการธุรกิจและปัจจัยแวดล้อมให้เรียบร้อยลงตัว เทียบได้กับคำว่า Capability และในองค์ประกอบที่สาม เป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ ที่เอื้อให้เกิดขีดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งก็คือคำว่า Credit นั่นเอง
ส่วนคำถามในข้อหลังนั้น อาจจะเกี่ยวข้องกับงานที่ผมทำอยู่ในเรื่องการให้คำปรึกษาองค์กรธุรกิจด้านความรับผิดชอบของกิจการในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเวลาที่พูดถึงความยั่งยืนขององค์กรขนาดใหญ่ มักจะต้องระบุการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่ม ครอบคลุมในสามด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
แต่สำหรับเอสเอ็มอี ความครอบคลุมและผลกระทบของแต่ละกิจการ จะไม่มากเท่ากับองค์กรขนาดใหญ่ ทำให้โจทย์ในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีให้ยั่งยืน จะมีความเกี่ยวเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียในสามกลุ่มสำคัญ ซึ่งจะขอใช้คำสามคำ เพื่อให้จดจำง่าย ได้แก่ ลูกจ้าง ลูกค้า และลูกช่วง
ลูกจ้าง ในที่นี้ คือ ผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรที่เป็นพนักงาน ตัวอย่างของการดูแลลูกจ้าง (ให้คิดเสมือนว่าเป็นลูก…ที่เราให้มาช่วยงาน) ได้แก่ การจ่ายเงินเดือนให้ตรงเวลา การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การหมั่นไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบของผู้ใต้บังคับบัญชา การพัฒนาและฝึกอบรมให้มีทักษะความก้าวหน้าในงานที่ทำ เป็นต้น อย่าลืมว่า ลูกจ้าง คือ ผู้ที่ทำให้กิจการ มี “ของ” ขาย ถ้าลูกจ้างใส่ใจและมีความสุขกับงานที่ทำ ของที่ทำ ก็จะออกมาดี มีคุณภาพตามไปด้วย
ลูกค้า ในที่นี้ คือ ผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรที่เป็นผู้ให้รายได้แก่กิจการ ตัวอย่างของการดูแลลูกค้า (ให้คิดเสียว่าเป็นลูก….ที่เราค้าขายด้วย) ได้แก่ การเสนอสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพสมราคา รับผิดชอบต่อพันธสัญญาที่ให้ไว้ คอยแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ หรือกรณีที่มีปัญหาหรือข้อบกพร่อง ก็รีบขวนขวายเป็นธุระจัดการแก้ไขให้เรียบร้อย เป็นต้น อย่าลืมว่า ลูกค้า คือ ผู้ที่เป็น “ตลาด” ให้กิจการ เมื่อลูกค้าได้รับความพึงพอใจ ผลดีที่สะท้อนกลับมายังองค์กร คือ ลูกค้าก็ยินดีที่จะควักเงินในกระเป๋าอุดหนุนกิจการของเราเรื่อยไป
ลูกช่วง ในที่นี้ คือ ผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรที่เป็นผู้รับไปดำเนินงานอีกทอดหนึ่ง อาทิ คู่ค้า ผู้แทนจำหน่าย ตัวแทนขาย ผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ (แฟรนไชส์ซี) ตัวอย่างของการดูแลลูกช่วง (ให้คิดว่าเป็นลูก…ที่เราต้องพึ่งพาอาศัย) ได้แก่ การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ ความโปร่งใสในการทำธุรกรรมสัญญา การเคารพในทรัพย์สินและผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง เป็นต้น อย่าลืมว่า ลูกช่วง คือ ผู้ที่ช่วยขยาย “ขนาด” ของธุรกิจ เพราะแม้กิจการจะมีของดีขายได้ในตลาด แต่ถ้าไม่มีลูกช่วง หรือมีลูกช่วงที่ไม่ดี กิจการก็ไม่สามารถที่จะ Scale Up ได้ แบรนด์แฟรนไชส์ระดับโลก ที่ขยายไปทั่วโลกได้ เพราะมีระบบการบริหารลูกช่วงที่มีประสิทธิผลสูง
ถ้ากิจการเอสเอ็มอี ดูแลลูก 3 คนนี้ ได้ดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ผมเชื่อเลยว่า กิจการของท่าน จะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน จริงแท้แน่นอนครับ