ภาษีที่ SME ควรต้องรู้…ก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ (ตอนที่ 8)


ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของ บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล SMEs

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ประเภท SMEs ภาครัฐจะค่อนข้างให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งนอกจากตัวผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับกำไรสุทธิ เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี ดังที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 658) พ.ศ. 2561 แล้ว (ติดตามรายละเอียดได้ในตอนที่ 4 ของผู้เขียน) ผู้ลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็ได้รับสิทธิพิเศษเช่นกัน โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

1.ผู้มีเงินได้ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา (ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง) ได้นำเงินมาลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เท่าจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น

2.เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี คือ เงินได้ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

3.ผู้มีเงินได้จะต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่น้อยกว่า 2 ปีต่อเนื่องกัน นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนดังกล่าว เว้นแต่ทุพพลภาพหรือตาย

4.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนดังกล่าว จะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และเป็นกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์และได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการหรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ (ได้แก่ รายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย รายได้จากการจำหน่ายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ และทรัพย์สิน บรรดาที่ใช้ในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และหมดสภาพหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้ต่อไป) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชี โดยมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผู้มีเงินได้ลงทุนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น