ในธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเป็นเอสเอ็มอี เอกสารสำคัญ 2 ชิ้นที่ทุกองค์กรต้องมี คือ Product Catalogue กับ Company Profile เอาไว้สำหรับนำเสนอลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างให้เกิดธุรกรรมตามที่องค์กรได้ตั้งเป้าหมายไว้
หน้าที่ของ Product Catalogue มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนรู้ว่า เราขายอะไร (what) ผลิตภัณฑ์ของเราช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ท่าน หรือใช้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร พร้อมสรรพคุณกำกับว่า สินค้าและบริการของเรามีดีและโดดเด่นกว่าเจ้าอื่นอย่างไร
ส่วนหน้าที่ของ Company Profile มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนเชื่อมั่นว่า ทำไม (why) ต้องซื้อจากเรา องค์กรของเราน่าเชื่อถือและมั่นคงอย่างไร มีขอบข่ายการให้บริการกว้างขวางขนาดไหน และเมื่อเป็นลูกค้าแล้ว ย่อมไว้วางใจได้อย่างแน่นอน
แต่ในวันนี้ ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย มิได้คำนึงถึงเพียงคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือที่องค์กรมอบให้ตนเองอย่างไรเท่านั้น แต่ยังพิจารณาเพิ่มต่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนใช้หรือองค์กรที่ตนเป็นลูกค้าอยู่นั้น สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไรด้วย
ความต้องการในเอกสารหรือข้อมูลที่ทำให้คนเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และองค์กรในมุมมองของการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้มักจัดทำในรูปของรายงานที่เรียกกันว่า Sustainability Report หรือ CSR Report และมักจะมีให้เห็นแต่เฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ โดยในปัจจุบันมีกิจการอยู่หลายพันแห่งทั่วโลกที่ดำเนินการจัดทำรายงานเผยแพร่ดังกล่าว
แต่ก็ใช่ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีข้อมูลหรือจัดทำเอกสารประเภทนี้ไม่ได้ เพียงแต่เรายังไม่ค่อยเห็นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากนัก สาเหตุหลักก็คงเป็นเพราะขาดแรงจูงใจหรือไม่เห็น Benefit มากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับเวลาและทรัพยากรที่ต้องใช้และมีอยู่ค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว
ทว่าก็มีเอสเอ็มอีหลายแห่งที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ทางธุรกิจต่อการเผยแพร่ข้อมูลความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เพียงแต่ไม่ได้ทำในรูปแบบที่เป็นทางการ เหมือนอย่างรายงานแห่งความยั่งยืนในองค์กรขนาดใหญ่ แต่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นการเผยแพร่ “ข้อมูลเด่นทาง CSR” หรือ CSR Profile เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน
CSR Profile จึงมีหน้าที่ในการทำให้คนรู้ว่า ผลิตภัณฑ์และองค์กรที่เขาเหล่านั้นใช้บริการอยู่นั้น ไม่สร้างผลลบ และ/หรือ สร้างผลบวกให้แก่สังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง (how good)
เมื่อพิจารณาเทียบกับ Product Catalogue ซึ่งมีข้อมูลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) เป็นหลัก หรือใน Company Profile ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและสายผลิตภัณฑ์ในภาพรวม เนื้อหาในเอกสารประเภท CSR Profile จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลดีหรือผลกระทบในเชิงบวกของผลิตภัณฑ์และองค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแก้ไข (หรือคำมั่นว่าจะแก้ไข) ผลเสียหรือผลกระทบในเชิงลบที่ผ่านมาของกิจการ
ในทางปฏิบัติ เราอาจรวมข้อมูลใน CSR Profile ไว้ในเอกสาร Product Catalogue หรือ Company Profile ด้วยได้ แต่เนื่องจากกระแสเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกวันนี้ ได้รับความสนใจจากสังคม และผู้บริโภคก็มีความตื่นตัวมาก การเน้นให้ความสำคัญกับข้อมูลนี้ ด้วยการแยกเป็นเอกสาร CSR Profile จึงเป็นเรื่องที่หลายองค์กรดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อกระแส CSR ดังกล่าว
CSR Profile จึงสามารถพัฒนามาเป็นแค็ตตาล็อกทางธุรกิจอันทรงคุณค่าของกิจการ ที่ทำให้คู่ค้า/ลูกค้า รู้ว่าองค์กรของเรามีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถสร้างเป็นจุดขาย และการต่อยอดธุรกิจ ด้วยการค้นหาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ในเชิง CSR การแปลงจุดด้อยของผลิตภัณฑ์ให้เป็นโอกาสทาง CSR และการค้นหาตลาดใหม่จากการสำรวจความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ของกิจการ