ปฏิวัติวงการสุขภาพด้วย AI


ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence หรือ AI) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการพูดถึงมากที่สุดในปัจจุบัน ด้วยความสามารถที่หลากหลายของ AI ตั้งแต่การทำงานง่ายๆ ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน AI กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังงานต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การระบุอีเมลสแปม ไปจนถึงการช่วยให้คนขับรถอูเบอร์สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดของผู้ใช้บริการ

เป็นที่ทราบกันดีว่าแวดวงการแพทย์มีการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล คุณประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับวงการแพทย์ของ AI คือการวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ ยุคสมัยของบิ๊กดาต้าในด้านการแพทย์เริ่มจากการใช้ระบบเวชระเบียนผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงและผสานข้อมูลบนเครือข่ายต่างๆ และการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เป็นรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด ปัจจุบัน สถานพยาบาลต่างๆ กำลังมองหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินงานและการดูแลรักษาผู้ป่วย

Frost & Sullivan รายงานว่าตลาด AI ด้านการดูแลสุขภาพจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 40% ในปี 2564 เพราะ AI มีศักยภาพในการเพิ่มผลลัพธ์ในการดูแลสุขภาพได้ถึง 30-40% อีกทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลงได้ครึ่งหนึ่ง

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐมีนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Hub) ของเอเชีย ข้อมูลสถิติทางการระบุว่าประเทศไทยมีจำนวนสถานพยาบาลทั่วประเทศ 1,355 แห่ง ในขณะที่ ผลสำรวจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน 347 แห่ง การดำเนินกิจการในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจของประเทศถึง 99,427 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2559) จากการสำรวจพบว่าโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนจำนวน 120 แห่ง หรือร้อยละ 34.6 รายงานว่าใช้อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย

นอกจากนี้ข้อมูลจากรายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมการใช้งาน AI ในอุตสาหกรรมสุขภาพในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ยังระบุว่าการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น และมีความต้องการการรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย รายงานยังพบว่า การลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ในอุตสาหกรรมสุขภาพของประเทศไทยในปี 2560 มีมูลค่า 162.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการลงทุนด้าน AI และอนาไลติกส์ 1.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2563 จะมีการลงทุนด้าน ICT ของอุตสาหกรรมสุขภาพเป็นมูลค่า 198.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการลงทุนด้าน AI และอนาไลติกส์ 12.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้อมูลเหล่านี้เป็นการตอกย้ำความต้องการใช้งาน AI ในวงการสุขภาพของไทยได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะนำมาใช้ในด้านที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยและรักษา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การใช้สินทรัพย์ของโรงพยาบาล และเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่มารับบริการ การเพิ่มคุณภาพในการผลิต วิจัย และพัฒนายา การวิเคราะห์ความเสี่ยง ระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ หรือแม้กระทั่งระบบแมชชีนเลิร์นนิ่งสำหรับการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน

AI ได้รับการใช้งานอย่างกว้างขวางมากขึ้นในวงการด้านการดูแลสุขภาพ เช่น
– ศูนย์โรคมะเร็งขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใช้ AI เพื่อขับเคลื่อนโมบายแอพบริการดูแลผู้ป่วยที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพของอาหารและที่พักอาศัย
– Mount Sinai Health System ใช้ AI เพื่อค้นหาอาการที่ไม่เคยตรวจพบมาก่อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
– มีการใช้ Google AI ในการตรวจสอบดวงตาของผู้ป่วย เพื่อตรวจดูว่ามีอาการผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่
– มีการใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือพยาบาล ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวไม่สะดวก
กรณีการใช้งานเหล่านี้อาจฟังดูน่าตื่นเต้น แต่สิ่งแรกที่ควรพิจารณาคือ AI จะสามารถช่วยการดำเนินธุรกิจได้อย่างไร
AI กับมนุษย์
AI และเทคโนโลยีทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง จะทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ ในทางธุรกิจ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่นเพิ่มความสะดวกในการจัดสรรบุคลากรในสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีเวลามากขึ้นในการดูแลรักษาผู้ป่วย และให้คำปรึกษา แทนที่จะต้องเสียเวลากับงานธุรการ เมื่อมีการใช้งาน AI อย่างเหมาะสม ก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเต็มที่

หากเราคิดถึงแชทบ็อท (Chatbot) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ AI ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในสำนักงานด้วยระบบอัตโนมัติ ทุกวันนี้แชทบ็อทสามารถให้คำแนะนำได้รวดเร็วกว่าการค้นหาข้อมูลด้วยคนถึง 20% ด้วยการใช้วิธีวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ AI สามารถให้ความช่วยเหลือในงานด้านต่างๆ ของสถานพยาบาล เช่น

– ซัพพลายเชน: ในเรื่องของซัพพลายเชน AI จะช่วยตอบคำถามของพนักงานเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ตรวจสอบติดตามวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังไม่ได้ใช้งาน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนสต็อกส่วนเกิน นอกจากนี้ยังช่วยลดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการค้นหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยการระบุตำแหน่งที่ตั้ง และจัดการเกี่ยวกับการสั่งซื้อและการจัดส่งโดยอัตโนมัติ

– บริการตนเอง: ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์พยายามมองหาหนทางที่จะเพิ่มความสะดวกให้กับงานธุรการ เทคโนโลยี AI เป็นวิธีที่รวดเร็วและถูกต้องในการขับเคลื่อนงานบริการตนเอง (self-service) ระหว่างแผนกต่างๆ ช่วยให้บุคลากรเหล่านี้สามารถทุ่มเทเวลาให้กับการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ด้วยการใช้ AI เพื่อทำสิ่งต่างๆ เช่น ตอบข้อซักถามของพนักงานแต่ละคนได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนวันลาหยุดที่เหลืออยู่ ไปจนถึงตารางวันหยุดต่างๆ ซึ่งส่งผลให้โรงพยาบาลสามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

– การเงิน: AI ช่วยฝ่ายบัญชีของโรงพยาบาลโดยการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการชำระเงิน การตรวจสอบการชำระเงิน การระบุรูปแบบใบแจ้งหนี้ และอื่นๆ การใช้ AI เพื่อทำงานประจำที่ไม่ซับซ้อน ช่วยให้ผู้บริหารฝ่ายการเงินมีเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น เพื่อกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับฝ่ายการเงินแล้ว ยังช่วยให้ฝ่ายการเงินมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อการดำเนินงานทั้งหมด แทนที่จะดูแลเพียงแค่การเงินและบัญชีในลักษณะเดิมๆ

– สิ่งแวดล้อม: ผู้ป่วยต้องการการรักษาพยาบาลและบรรยากาศที่สงบเงียบเพื่อการพักฟื้น AI จะช่วยบำรุงรักษาอุปกรณ์ภายในโรงพยาบาล ด้วยการประสานงานเกี่ยวกับตารางเวลาของงานบำรุงรักษาที่ทำเป็นประจำ และจัดหาข้อมูลที่จำเป็นให้แก่พนักงานเพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ทั้งหมดอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดเวลาหยุดทำงานของระบบและอุปกรณ์ต่างๆ และไม่สร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้ป่วย

ปัจจัยต่างๆ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่จำเป็นเพื่อให้การรักษาพยาบาลประสบผลสำเร็จ หากผู้ป่วยมีประสบการณ์แง่ลบเกี่ยวกับโรงพยาบาล ก็จะส่งผลให้คะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับต่ำ ภายใต้แนวทางการประเมินคุณภาพบริการสำหรับผู้ป่วย Hospital Consumer Assessment of Healthcare Providers and Systems (HCAHPS) และส่งผลกระทบต่อการความคุ้มค่ากับคุณประโยชน์ที่ได้รับ

AI ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในแวดวงการแพทย์และผู้บริหารระดับสูงในโรงพยาบาล รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องเรื่องการดูแลสุขภาพทั่วโลก บุคคลเหล่านี้จำเป็นจะต้องคิดอย่างรอบคอบในการตัดสินใจจัดซื้อเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต มีความไม่ชัดเจนเกิดขึ้นมากมายในประเด็นที่ว่าเทคโนโลยี AI รูปแบบใดจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และ “พร้อมรองรับอนาคต” เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง จริงอยู่ว่าโรงพยาบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องระมัดระวังในการใช้งบประมาณไปกับการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่การไม่ตัดสินใจเลยก็ก่อให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายยิ่งกว่า แม้ว่าการตัดสินใจเรื่องเทคโนโลยีนี้มีความเสี่ยงสูง แต่ก็อาจนำไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว

พลังของ AI ในแวดวงการแพทย์เพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังมีความเป็นไปได้อีกมากมายอย่างไม่รู้จบ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการเพิ่มศักยภาพให้แก่สถานพยาบาลและบุคลากร กล่าวโดยสรุปก็คือ AI มีอยู่ทุกที่ และถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มต้นลงทุนในเทคโนโลยีนี้และใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด