สวัสดีปีใหม่ 2562 แด่ชาว Smart SME ทุกท่าน ผมขอส่งความปรารถนาดีมายังเถ้าแก่ และผู้ประกอบการที่มุ่งมั่นในการประกอบกิจการ มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคม ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเจริญก้าวหน้า กิจการรุ่งเรือง และมีความยั่งยืนตลอดไปครับ
ผมเชื่อว่า ปีนี้ จะเป็นปีที่มีความท้าทายในหลายเรื่อง ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจในภาพรวม ที่ในระดับโลก ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มชะลอตัวลงแตะ 2.9% ในปี 2562 ซึ่งลดลงจากระดับ 3% ในปี 2561 ท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ
ขณะที่ ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจของไทย ตัวเลขจีดีพี คาดว่าจะไม่ถึง 4% เพราะสามปัจจัยหลัก คือ ผลกระทบจากสงครามการค้าโลก มูลค่าการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ไม่น่าจะเพิ่มได้มากกว่าปีที่แล้ว และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะชะลอออกไป จนกว่าจะมีความชัดเจนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
SME นับเป็นข้อต่อของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่อยู่ขั้นกลาง เชื่อมระหว่างผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการชุมชน หากไม่มีการลงทุนของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ตามที่ควรจะเป็น เม็ดเงินที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์และบริการ ผ่านมายัง SME ก็พลอยหดหายน้อยลงไปด้วย
ขณะที่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การจำหน่ายสินค้าและบริการไปยังผู้บริโภค จะไม่สามารถขยับเพิ่มขึ้น ตราบที่เงินในกระเป๋าของผู้บริโภคยังมีเท่าเดิม
ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการเริ่มออกมาส่งสัญญาณแล้วว่า ในปีนี้ จะก้าวเข้าสู่สภาวะชะลอตัว จากสามปัจจัยหลัก คือ ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อซื้อบ้าน หนี้ครัวเรือนสูง และดอกเบี้ยที่อยู่ในขาขึ้น
ในภาคเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ออกมาคาดการณ์ว่า แนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร ของปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 ลดลงจากปี 2561 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 4.6 ซึ่งเป็นสัญญาณชี้ว่า เงินในกระเป๋าของคนส่วนใหญ่ที่มีอาชีพอยู่ในภาคเกษตร ไม่ได้เพิ่มจากเดิม ทำให้กำลังซื้อที่จะส่งทอดต่อมายัง SME ก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นได้สูงกว่าปีที่แล้ว
หากดูการคาดการณ์เป็นรายภาค หอการค้าภาคเหนือ มองว่า ประชาชนในพื้นที่ยังคงมีความกังวลในเรื่องของราคาสินค้าเกษตร เสถียรภาพของราคา และตัวเลขการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ
ขณะที่หอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มองว่า ราคาข้าวยังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาราคายางพารา ได้รับผลกระทบเพียงบางพื้นที่ เรื่องการค้าการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้านติดกันยังมีลู่ทางที่ดี ขณะที่ความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ ยังคงเป็นเรื่องของมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก ที่ยังไม่ค่อยตรงจุด เนื่องจากกลไกทางราชการในแบบบนลงล่าง ขาดการรับรู้ปัญหาที่แท้จริงของคนในพื้นที่ และการร่วมพัฒนาจากล่างขึ้นบนตามบริบทของแต่ละพื้นที่
ส่วนหอการค้าภาคกลาง มองว่า ราคาสินค้าเกษตรที่เป็นพืชไร่ยังไม่ดีขึ้น บวกกับปัจจัยลบในเรื่องเงินเฟ้อ การส่งออก และสถานการณ์ท่องเที่ยว จากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ที่มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่เริ่มหายไป ซึ่งคาดว่า ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะเศรษฐกิจของจีน ปรับตัวลดลง
ทางหอการค้าภาคตะวันออก มองว่า เรื่องราคาสินค้าเกษตร ที่มีผลต่อรายได้ของคนในพื้นที่ การขึ้นดอกเบี้ย ที่มีผลต่อ SME เป็นเรื่องที่ต้องจับตามิให้เกิดปัญหา ปริมาณการส่งออกผลไม้ยังดีอยู่ แต่ปัญหาการรักษาคุณภาพให้ได้ทั่วถึงยังมีอยู่ ปัจจัยบวกที่สำคัญของภาคตะวันออก คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะกระตุ้นเรื่องการลงทุน การจ้างงานและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เติบโตขึ้นได้อีกมาก
และหอการค้าภาคใต้ มองว่า เรื่องยางและปาล์ม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตเป็นหลัก รวมถึงเม็ดเงินรายได้จากการท่องเที่ยว มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง ซึ่งต้องหามาตรการดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมา พร้อมหากลุ่มประเทศใหม่ๆ เข้ามาท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่หมูเลย สำหรับการทำธุรกิจในปีใหม่นี้ แต่ก็เอาใจช่วย และหวังว่า ชาว SME ทั้งหลาย จะอยู่รอดปลอดภัยในปีหมูนี้ อย่างถ้วนหน้ากันทุกคนทุกกิจการทุกภาค นะครับ!