ภาษีที่ SME ควรต้องรู้…ก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ (ตอนที่ 18)


ธุรกิจการให้บริการรักษาพยาบาล อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

ธุรกิจการให้บริการรักษาพยาบาลโดยปกติจะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีเงื่อนไขจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หากมิได้จดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล แต่ได้ทำสัญญาให้บริการกับโรงพยาบาล เช่น ทำสัญญารับจ้างดำเนินการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้แก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลโดยเป็นผู้จัดหาเครื่องไตเทียมพร้อมทั้งบุคลากรเพื่อดำเนินการดังกล่าว และโรงพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่าบริการฟอกเลือดแล้วนำมาแบ่งให้ตามที่ตกลงกัน

การให้บริการดังกล่าวนี้อยู่ในบังคับที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด หรือแม้แต่มีการจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล แต่ไปให้บริการ ณ สถานที่ที่ไม่ได้จดเป็นสถานประกอบการของตนเอง กรณีนี้ก็ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน เช่น บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวจะมีกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะสถานที่ประกอบกิจการสถานพยาบาลตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น การให้บริการฟอกเลือด ณ สถานประกอบการดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

แต่กรณีที่บริษัทดังกล่าวได้ไปทำสัญญากับโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อตั้งศูนย์ไตเทียมในโรงพยาบาลอื่นๆ นั้น โดยบริษัทมิได้จดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง กรณีนี้จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล แต่ถือว่าเป็นการให้บริการตามสัญญาต่อโรงพยาบาล รายรับจากการให้บริการดังกล่าวจึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร) ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด (ข้อหารือของกรมสรรพากร ที่ กค 0702/พ.7193 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2558)

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่ [email protected]