นับจากที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้ถูกประกาศโดยสหประชาชาติให้นานาประเทศได้นำไปใช้เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการ ภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียน ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ในสัดส่วนที่สูง ต่างแสดงเจตนารมณ์และบทบาทที่จะมีส่วนในการร่วมตอบสนองต่อ SDGs ให้บรรลุผล รวมทั้งต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบและความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้
เพื่อให้สอดรับกับความเคลื่อนไหวดังกล่าว องค์การสหประชาชาติ โดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting: ISAR) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ซึ่งมีสำนักงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ ได้เผยแพร่ แนวทางตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลัก (Guidance on Core Indicators: GCI) สำหรับกิจการเพื่อรายงานการดำเนินการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้มีการกำหนดตัวชี้วัดหลักสำหรับตอบสนอง SDGs จำนวน 15 รายการ ในสี่ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล
ความริเริ่มของ ISAR มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทลายข้อจำกัดของการแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองขององค์กรธุรกิจต่อ SDGs ซึ่งในหลายกรณี ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง
รวมทั้งการขจัดอุปสรรคสำคัญ เมื่อองค์กรธุรกิจพยายามที่จะตอบโจทย์ให้ตรงกับเป้าหมาย โดยลงไปพิจารณารายละเอียดของ SDGs ในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) แต่กลับพบว่า ตัวชี้วัด SDGs นั้นๆ นำมาใช้ไม่ได้ (Not applicable) กับภาคธุรกิจ อาทิ เป็นตัววัดที่กำหนดให้ดำเนินการโดยรัฐ จึงไม่สามารถอ้างอิงได้เต็มปากว่า สิ่งที่องค์กรดำเนินการและต้องการเปิดเผยข้อมูลให้มีความเชื่อมโยงไปสู่ SDGs ข้อดังกล่าว สามารถตอบสนองต่อ SDGs เป้านั้นได้จริง แม้ว่าชื่อหรือหัวข้อดูจะมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ GCI จึงได้ถูกพัฒนาขึ้น และนำมาใช้เป็นเครื่องยืนยันถึงสถานะความเป็นกิจการที่มีส่วนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงการดำเนินงานขององค์กรที่มีส่วนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level SDGS) ซึ่งมีความคล้องจองกับข้อมูล SDGs ที่รัฐบาลจัดเก็บในระดับประเทศ และใช้รายงานต่อสหประชาชาติด้วย
ในประเทศไทย ได้มีการนำ GCI ที่พัฒนาโดย ISAR มาใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจยืนยัน (Validate) การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ตามตัวชี้วัดหลัก 15 รายการ (33 ตัวชี้วัด) เพื่อให้การรับรอง (Certify) เป็นกิจการที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ SDG Impact Company โดยที่กิจการจะต้องมีคะแนนปรากฏทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล โดยไม่มีด้านใดด้านหนึ่งที่ปราศจากคะแนน
ตัวอย่างของกิจการในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองให้อยู่ในบัญชีรายชื่อ SDG Impact Company ได้แก่ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ซึ่งได้รับการประเมินผลกระทบที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับ GOLD CLASS จากการตรวจยืนยันตามเกณฑ์ GCI ของ ISAR โดยได้รับคะแนนด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล เกินสองในสามของคะแนนเต็มในทุกด้าน
องค์กรธุรกิจที่สนใจนำแนวทาง GCI ของ ISAR มาดำเนินการ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากหนังสือ “Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance” ที่สถาบันไทยพัฒน์จัดทำขึ้น โดยอ้างอิงจากแนวทางดังกล่าว ซึ่งสามารถดาวน์โหลดทางเว็บไซต์ https://thaipat.org (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป