เปลี่ยนขยะเป็นทองคำ รูปธรรมที่โรงไฟฟ้าขยะ ‘ฮอด’ ทำให้เห็น


การเปลี่ยนขยะให้เป็นสิ่งของที่มี “มูลค่า” ขึ้นมา ด้วยการปรับเปลี่ยนผ่านกระบวนการเทคโนโลยี เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน และสร้างผลกำไรกับมันสำหรับการลงทุนกับของเสีย

รูปธรรมที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนขยะที่เคยเป็นปัญหาของเมืองใหญ่ ใส่เทคโนโลยีและองค์ความรู้พร้อมกับเม็ดเงินการลงทุน ก็จะได้พลังงานจากการหมักหมมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ รูปธรรมที่ว่าเริ่มฉายภาพให้สังคมเห็นมากขึ้น จากการจัดการปัญหาขยะของเทศบาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ที่จากเดิมพวกเขาเจอจำนวนขยะเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1.5 หมื่นตัน แต่จากการรณรงค์ และเอกชนที่สนใจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปรับโรงขยะ หรือจุดทิ้งขยะของเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่อ.ฮอด ให้เป็นการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการเอาขยะมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และผลิตเป็นไฟฟ้าขายให้กับภาครัฐ

โรงขยะที่อำเภอฮอด คือพื้นที่ฝังกลบขยะของเมืองเชียงใหม่ ที่มีเนื้อที่ประมาณ 2 พันไร่ แต่เดิมเชียงใหม่มีปัญหาเรื่องขยะมาก ซึ่งมีปริมาณขยะรวมกันวันละ 400-500 ตัน ซึ่งเดิมทีที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นโรงไฟฟ้า แต่เป็นเพียงพื้นที่สำหรับทิ้งขยะเท่านั้น

แต่เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนามากขึ้น เจ้าของพื้นที่จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนานำขยะที่มีอยู่จำนวนมหาศาลนี้มาหมักเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าฯ โดยเมื่อขยะถูกฝังกลบอย่างถูกวิธีจะเกิดก๊าซชีวภาพขึ้น จากนั้นจะดูดก๊าซที่ได้ส่งไปตามท่อ แล้วกักเก็บไว้ในบอลลูนที่ปิดคลุมขยะไว้ และนำไปผ่านกระบวนการทำความสะอาดก๊าซเพื่อให้ได้ก๊าซที่สะอาดส่งไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าฯ ผลจากจุดนี้ทำให้สร้างรายได้วันละ 120,000 บาท ส่วนก๊าซที่ไม่สะอาดก็จะนำมาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนนำไปเป็นเชื้อเพลิงที่ไร้มลพิษอบลำไยอบแห้งส่งขายได้อีกทาง

พื้นที่แห่งนี้เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ประโยชน์ได้เต็มที่จากกองขยะ ที่เอกชนให้เช่าพื้นที่เพื่อทำเป็นที่ทิ้งขยะของเมืองใหญ่ และเมื่อได้ขยะมหาศาลที่มากถึงวันละ 400 ตัน ก็สามารถไปผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับไปผลิตไฟฟ้าในขนาดโรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ได้อย่างสบายๆ เรียกว่าเป็นการสร้างผลกำไรจากขยะ เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดได้อย่างรอบทิศทาง

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทน ทำให้เห็นภาพว่า ในประเทศไทย โดยเฉพาะเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศ จะมีจุดพื้นที่ทิ้งขยะพอที่จะมีศักยภาพเหมือนกับที่อ.ฮอด ของเชียงใหม่อีกมากกว่า 40-50 แห่ง

ถือเป็นแนวคิดอันชาญฉลาดเลยทีเดียว กับการนำของทิ้งแล้วอย่างขยะ ไปต่อยอดด้านพลังงานได้ถึงขนาดไปผลิตกระแสไฟฟ้า ผ่านกระบวนการก๊าซชีวภาพ รวมถึงการเผาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลจากขยะที่เผาไหม้ได้ด้วยเช่นกัน

หากเรานึกภาพตามได้ว่า จุดทิ้งขยะ พื้นที่ทิ้งขยะที่เคยสร้างปัญหาต่างๆ ให้กับสภาพแวดล้อม สังคมชุมชนโดยรอบ หากปรับเปลี่ยนและคืนของเสียเป็นผลประโยชน์ให้กับทุกคน ประเทศไทยน่าจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สามารถจัดการเรื่องพลังงานได้อย่างน่าทึ่ง

แต่กระนั้น สำหรับการนำขยะไปผลิตเป็นพลังงานนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นระบบที่ดีที่สุด หรือจัดการปัญหาขยะได้อย่างดีที่สุดก็พูดไม่ได้ไม่เต็มปาก เพราะว่าขยะแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน และลักษณะการทิ้งขยะของบ้านเราคือ “รวมทุกอย่าง” เข้าไว้ด้วยกัน เราไม่เคยผ่านการคัดแยกขยะอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดังนั้น การนำขยะมากองรวมกันจึงอาจจะทำให้ได้พลังงานกลับคืนผ่านกระบวนการผลิตได้อย่างไม่เต็มที่

แต่กระนั้น กระบวนการที่เราได้เริ่มขึ้นสำหรับการจัดการปัญหาขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ก็นับเป็นการก้าวเดินที่ดีมากกว่าการหยุดนิ่งไม่พัฒนา หรือหาทางแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันเราๆ คนทั่วไปก็สามารถช่วยเหลือกระบวนการจัดการขยะได้ด้วยเช่นกัน ผ่านทางการคัดแยกขยะที่เริ่มได้จากบ้านตัวเอง รวมไปถึงหน่วยงานรัฐที่ต้องหาทาง วางระบบที่เป็นเรื่องชัดเจนสำหรับการแยกขยะแต่ละประเภท นำไปสู่การจัดการที่เหมาะสมในแต่ละด้าน เราก็จะได้ทั้งพลังงาน ได้ทั้งสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กันไป