วันนี้เราห่างจากไอทีมาสู่นวัตกรรมกันบ้าง สินค้าผลไม้ไทย ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมในการส่งออกเป็นอย่างมาก จากสภาวะโควิด-19 ที่ใครๆ ก็คิดถึงผลไม้ไทย อย่าง ทุเรียน และมะม่วงสุก ซึ่งเป็นสินค้าได้รับความนิยมสูงมาก และมีอัตราการส่งออกไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างต่อเนื่อง
เมื่อปีที่ผ่านมา ทาง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ก็ได้ออกบรรจุภัณฑ์ กล่องเก็บกลิ่นทุเรียนแบบล็อกกลิ่นได้ 100% ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ค้าออนไลน์ภายในประเทศและต้องการส่งออกไปยังต่างประเทศในระยะใกล้ๆ ต้องการเป็นอย่างมาก เพราะไม่เป็นภาระเรื่องกลิ่นให้กับผู้อื่น แถมยังมีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ทาง วว. โดยศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเกี่ยวกับมะม่วง ซึ่งมีหลายขนาดหลายพันธุ์ เวลาบรรจุหีบห่อก็อาจจะมีการกระแทรกกันบ้าง ทำให้เกิดความเสียหายเมื่อถึงปลายทาง ตรงนี้ก็จะมีส่วนของที่กั้นภายในกล่อง เป็นผู้ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถส่งผลไม้ไปยังปลายทางได้อย่างมั่นใจ
อีกส่วนหนึ่งก็คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ร่วมกับคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ออกแบบสำหรับทุเรียนแกะเนื้อและต้องการส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งการแกะเนื้อทุเรียนออกมานั้น จะมีระยะเวลาไม่นาน บางครั้งการส่งออกอาจจะไปถึงปลายทางแล้ว เนื้อทุเรียนอาจจะรับประทานไม่ได้ เรียกว่า การวิจัยอันนี้จะตอบโจทย์สำหรับผู้ประกอบการโดยตรง
เพียงผู้ประกอบการคัดเลือกเนื้อของทุเรียนในพูที่สวยน่ารับประทาน แล้วไปบรรจุในกล่องที่ทาง วช. ร่วมสนับสนุน และใส่ซองบรรจุสารดูดซับก๊าซเอททิลีน สารนี้จะช่วยให้ชะลอทุเรียนสุกช้าลง จากเดิมที่สุกแล้วจะทานได้ไม่เกิน 3 วัน แต่สามารถยึดไปถึง 7-10 วัน ซึ่งจะเป็นระยะเวลาที่สามารถส่งสินค้าแบบพรีเมี่ยมออกไปผู้ซื้อในต่างประเทศได้ พร้อมกับการบรรจุในกล่องแบบแอนตี้ฟ็อก จะช่วยป้องกันการเกิดหยดน้ำและฝ้าภายในกล่องด้วย
หลายคนอาจจะถามต่อว่า แล้วบรรจุภัณฑ์แบบนี้ จะมีต้นทุนเท่าไหร่ จากการสอบถามทาง วช. เบื้องต้นก็พบว่า กล่องบรรจุและขั้นตอนต่าง ๆ จะมีราคาต่อกล่องอยู่ที่ 5 บาท ถือว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่มาก เมื่อเทียบกับการส่งออกไปยังต่างประเทศ เพราะในสหรัฐอเมริกา ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อทุเรียนแกะแล้ว จะตกกล่องละ 30-40 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก
ตอนนี้ก็ถึงคราวของผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาเพิ่มเติมแล้วล่ะครับ ผมว่ายังมีงานวิจัยจาก วช. อีกมากมาย ที่ออกมาในช่วงนี้ และถ้ามีส่วนไหนที่จะช่วยผู้ประกอบการไทยได้ จะนำมาเสนออีกครั้งนะครับ