เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เล่าถึง การรับรู้และใช้ คริปโต เคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ในประเทศไทย ว่า กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ภายใต้ปัจจัยในยุค New Normal ที่ทำให้เราลดพึงพาเงินสดในการจำจ่ายใช้สอย รวมทั้งการดำเนินธุรกิจต่างๆ ครั้งนี้มีตัวอย่างมาให้ดูว่า คริปโต ในประเทศไทยนั้นเข้าถึงคนได้ในระดับไหนแล้ว
หากท่านลองใช้ Google Search ค้นหาคำว่า “ร้านค้า บริการ รับ คริปโต” จะเห็นว่าร้านค้าหรือผู้ให้บริการจำนวนไม่น้อย ที่รับค่าบริการหรือสินค้าด้วยคริปโต ตั้งแต่ร้านค้าเล็กๆ อย่างร้านขายปลาเผา รองเท้านันยาง ร้านชาบูค่าบริการออก Event ของดารานักแสดงบางคน ไปจนถึงคอนโดมิเนียมของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และโชว์รูมรถซูเปอร์คาร์ มูลค่าหลายสิบล้านบาท
ตัวอย่างร้าน ปลาเผาคริปโต จังหวัดลำพูน ซึ่งประกาศผ่านเพจFB ว่า รับชำระค่าปลาเผาด้วยคริปโต เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ได้สร้างความฮือฮาในสังคมออนไลน์อย่างมาก โดยทางร้านระบุค่าปลาเผาที่จ่ายด้วย คริปโตเคอเรนซี่ ว่า ปลาเผาราคาชุดละ120-140 บาท หรือหากจ่ายเป็นคริปโต เท่ากับ 4-5USDT
ข่าวนี้แสดงให้เห็นชัดแล้วใช่ไหมครับว่า สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี่ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และต้องเป็นสิ่งที่ SME ต้องเรียนรู้และเตรียมตัวเข้าใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้ได้แล้ว
สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการรับเงินสกุลดิจิทัล สามารถดำเนินการได้ผ่านเว็บไซต์ตัวกลางซึ่งเชื่อมโยงกับ Wallet ของผู้ประกอบการ และปัจจุบันเว็บไซต์ตัวกลางนี้ยังได้เปรียบเทียบค่าเงินเป็นแบบ Real Time ทำให้สะดวกในการคิดค่าบริการอาทิ Bitcoin ,Omiseและ Bitpay
Bitcoin
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ร้านค้าต้องคำนึงถึงการรับค่าบริการสกุลเงินดิจิทัล คือ สกุลเงินดิจิทัลมีหลายสกุล และมีความผันผวนสูง จึงมีการแนะนำว่าควรรับสกุลเงินที่เป็นกลุ่ม Stable Coin เช่น USDT รวมทั้งควรเป็นสกุลที่มีความนิยมในอันดับต้นๆ
Omise
นอกจากนี้การบริการตัวกลางก็มีค่าธรรมเนียมอีกเล็กน้อย ซึ่งจำเป็นต้องบวกไว้ในต้นทุนสินค้า
ทั้งนี้หากผู้ประกอบการไม่ต้องการใช้บริการตัวกลาง ก็สามารถที่จะรับเงินดิจิทัล เข้าใน Wallet ได้โดยตรง ซึ่งก็สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้ในกระดานแลกเปลี่ยน
วันนี้เราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระแสเงินดิจิทัลได้ หากท่านติดตามข่าวเรื่องนี้จะพบว่า ในต่างประเทศนั้น การชำระค่าบริการหรือสินค้าด้วยเงินดิจิทัล ก้าวไปไกลและรวดเร็วมาก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ถือครองเงินดิจิทัลมากเป็นอันดับต้นๆของโลก และมีร้านค้าจำนวนมากที่รับเงินดิจิทัล
เป็นที่มาให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีแนวคิดที่จะดึงคนญี่ปุ่นที่ถือครองเงินดิจิทัล เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย หลังการระบาดไวรัสโควิด สิ้นสุดลง พร้อมหาวิธีให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้เงินดิจิทัลได้ในประเทศไทย ซึ่งก็ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการปิดจุดอ่อนหรือข้อกังวลในการกระทำผิดเกี่ยวกับการเงินต่างๆเสียก่อน
Bitpay
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ เรื่องสกุลเงินดิจิทัล แม้จะมาเร็วแต่ก็ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยมีความเชื่อมโยงหลากหลายมิติ ทั้งด้านการใช้แลกเปลี่ยน การถือครอง และการลงทุน และมีความผันผวนดังที่กล่าวไว้แล้วดังนั้นหากผู้ประกอบการต้องการเข้าสู่ประสบการณ์ใหม่นี้ ก็ควรที่จะศึกษารายละเอียดให้เพียงพอเสียก่อน