สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นการเคลื่อนไหวของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่เจ้าใหญ่ ที่กำลังเปลี่ยนบทบาทการผลิตของตัวเองไปสู่การผลิต “กัญชา” ในเชิงสันทนาการมากยิ่งขึ้น นั่นคือสิ่งที่ต่างประเทศทำได้ ที่สำคัญนี่คือการต่อยอดที่สามารถทำให้ พืชเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป ควบคู่กันทั้งการใช้ทางการแพทย์ และเชิงสันทนาการ แตกแขนงต่อยอดธุรกิจไปได้อีกมากมาย
หากย้อนกลับมาดูในประเทศไทย เรื่องกัญชา เชิงสันทนาการ ยังคงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่ง “กัญชาทางการแพทย์” ที่เราบอกจะเดินหน้าอย่างเป็นที่ก็มีอันต้องเกิดดราม่าขึ้นในแวดวงสายเขียวเช่นเดียวกัน
เมื่อหมอท่านหนึ่ง ซึ่งตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกัญชาทางการแพทย์ ของ กรมแพทย์แผนไทยฯ และกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ไปในเชิงลบต่อคนที่ใช้กัญชาเพื่อการรักษา ข้อความดังกล่าวระบุถึง “บุคลิกภาพของผู้ใช้” ซึ่งทำให้กัญชาไทยไม่อาจพัฒนาไปได้
เรื่องดังกล่าวจึงได้รับการต่อต้าน จากกลุ่มซึ่งเป็นผู้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ “ใต้ดิน” นี่เป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่ “กัญชา” ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้เพื่อ ภาคประชาชนและรัฐ เดินบนเส้นทางที่ไม่ลงรอยกัน
ดังนั้นรัฐจึงต้องกลับมาคิดหาแนวทาง การเอาคน “บนดิน”และ “ใต้ดิน” กลุ่มคนเหล่านี้ดูจะมีความรู้จากการศึกษาการใช้กัญชาในต่างประเทศพอสมควร มารวมกันให้ได้ เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และการขับเคลื่อน “กัญชาไทย” ให้ก้าวต่อไป
ขณะที่เรื่องของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชา วันนี้เรากำลังเห็นทิศทางที่ชัดเจนแล้วว่า “พืชเศรษฐกิจ” ที่รัฐกล่าวหนักหนาว่าจะเป็นสิ่งสร้างรายได้ให้กับเกษตร หรือคนไทยทุกคนนั้น ไม่อาจคาดหวังได้ เพราะที่ผ่านมา สิทธิ “กัญชา” อยู่ในการถือครองของบริษัทยักษ์ใหญ่ และถูกผันไปสู่การเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ในตลาด เป็นส่วนมาก “กัญชา” พืชที่ควรอยู่กับดิน จึงไปขึ้นอยู่บนกระดานปั่นหุ้น
ขณะที่นโยบาย วิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชา หรือ ปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ก็อยู่ในอิทธิพลของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว และยังคงมองไม่เห็นรายได้ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม จึงตัดทิ้งข้อที่ว่าชาวบ้าน หรือเกษตรกรตัวจริงจะสามารถเข้าถึงได้ออกไป
ด้านกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร-เครื่องดื่ม แม้จะมีบางรายที่สามารถพลิกวิกฤตโควิดให้เป็นโอกาส ทำรายได้ต่อไปได้ แต่ก็มีอีกหลายรายที่ไม่อาจเดินต่อ ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ เป็นเพียงผลพลอยได้จากนโยบาย “กัญชา” ที่หวังเพียงนายทุนไม่ใช่เพียงทุกคนอย่างแท้จริง
หากรัฐปรับเปลี่ยนนโยบายของทิศทางเพื่อการเข้าถึงของ “ชาวบ้าน” อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เพียงลูบหน้าประจมูก โดยการส่งเสริมการปลูก การผลิต การตลาด และปลดล็อกในส่วนของข้อกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
การส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “กัญชา” ซึ่งต้องมาจากชาวบ้านอย่างแท้จริง ไม่ใช่อยู่ในมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งเพียบพร้อมด้วย เงินทุน และความสามารถเพียงไม่กี่เจ้า โดยเข้าไปส่งเสริมการรวมกลุ่ม เพื่อการแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร การสร้างรายได้จากส่วนอื่นๆของกัญชา ที่เป็นรูปธรรม เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นแต่เพียง การวางนโยบายแต่ไร้ซึ่งภาคปฏิบัติ
นี่คือทิศทางกัญชาไทย ซึ่งเป็นเพียงนโยบายหาเสียง และตอบสนองให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่ใช่นโยบายการสร้าง “พืชเศรษฐกิจ” ให้ทุกคนได้เข้าถึง และต่อยอดสร้างธุรกิจอย่างแท้จริง
เข้าสู่เดือนสิงหาคม รอจับตาดู “กระท่อม” พืชอีกชนิดหนึ่งที่ถูกหมายมั่นปั่นมือว่า เป็น “พืชเศรษฐกิจ” เพื่อคนฐานราก ว่าจะเดินไปในทิศทางไหน เมื่อถึงเวลา “ปลดล็อก” ในวันที่ 24 ส.ค.นี้