ผลจากการ “ปลดล็อกพืชกระท่อม” ทำให้สามารถกิน ปลูก ซื้อขายได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย ยกเว้นการจำหน่าย ชักชวน ให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมลูก รวมไปถึงการใช้ร่วมกับสารเสพติดที่ผิดกฎหมาย อย่างการดื่มน้ำต้มกระท่อม ผสมยาแก้ไข หรือที่เรียกว่า 4×100
ดังนั้นจึงมีธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้จากพืชกระท่อมได้ คือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของอาหาร-เครื่องดื่ม เช่นเดียวกับธุรกิจคาเฟ่กัญชา
กระท่อมมี “รสขมจัด” จากสารแอลคาลอยด์ ที่เรียกว่า “ไมทราไจนีน” (Mitragynine) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ ช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ เมื่อกินในขนาด 200 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. ซึ่งมีฤทธิ์เทียบเท่ากับการได้รับมอร์ฟีนในขนาด 5 มล./น้ำหนักตัว 1 กก.
โดยคณะเภสัชศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ได้ให้ข้อมูลสรรพคุณทางยาว่า เมื่อกินใบสดจะมีอาการเป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว ไม่อยากอาหาร (ไม่ควรใช้เป็นยาลดน้ำหนัก) กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ทำให้สามารถทำงาน ได้นาน และทนแดดมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้กระท่อมในตำรับยา แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท
ในประเทศไทย ใช้กระท่อม โดยเคี้ยวใบสด และต้มเป็นนำกระท่อม เพื่อดื่ม นอกจากนี้ยังมีการใช้ใบกระท่อมแห้งชงเป็นชา เพื่อดื่ม ทำให้กระปรี้กระเปร่า
ขณะที่มาเลเซีย ได้แปรรูปเป็นเมนูอาหาร อย่าง กระท่อมชุบแป้งทอด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยกินเป็นอาหารเช้าคู่กับกาแฟ ซึ่งจะทำให้สามารถทำงานได้ตลอดทั้งวัน (ความรู้สึกของแต่ละบุคคล)
ขณะที่ต่างประเทศ จากข้อมูลพบว่า มีการใช้กระท่อมในลักษณะผง และแคปซูล คนยุโรป และสหรัฐฯ ส่วนใหญ่นิยมใช้ในการแพทย์ เพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย อาการวิตกกังวล แต่ FDA หรือ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ยังคงจัดให้กระท่อม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรเฝ้าระวัง และยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาหารเสริม
ด้านคนรักสุขภาพในต่างประเทศ มักใช้กระท่อมเป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหาร เช่น การปั่นกระท่อมร่วมกับพืชผักผลไม้ ในรูปแบบของสมูตตี้ ชากระท่อม หรือผงกระท่อมที่ผสมในกาแฟ
นอกจากนี้ยังมีการทำเป็นขนมและเบเกอรี่ อย่าง บราวนี่กระท่อม แพนเค้ก และซอสหวานที่ผสมร่วมกับผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล และสับปะรด
การทำเมนอาหารที่กล่าวมาก็เพื่อใช้ความหวานกลบรสชาติที่ขมจัดของกระท่อม
เนื่องจากกระท่อม ยังคงมีข้อควรระวังในการใช้อยู่ เช่น อาการผลข้างเคียง ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก นอนไม่หลับ และหากใช้ใบกระท่อมในปริมาณมากๆ จะทำให้มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน (ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่เฉพาะแต่ละบุคคล)
นอกจากนี้ในรายที่ใช้มากและเป็นเวลานานติดต่อกัน จะเกิดความเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งกร้าน ผิวคล้ำและเข้มขึ้น
รวมไปถึงการกินใบที่ไม่รูดก้านออกจากตัวใบก่อน เมื่อกินเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ ซึ่งเป็นพังผืดที่รัดอยู่รอบก้อนกากกระท่อม เนื่องจากก้านใบ และใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้
แม้ว่ากระท่อมจะมีประโยชน์ แต่ก็มีผลข้างเคียง สำหรับผู้ประกอบการไทย จึงควรศึกษาการใช้กระท่อมในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มก่อนการลงทุน โดยอาจใช้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีผลวิจัยอย่างถูกต้อง