กระท่อม-กัญชา จุดจบที่ไม่ต่างกัน ภาพขยาย “ความเหลื่อมล้ำ” ในธุรกิจ


ผมเคยเขียนถึงปัญหาของกัญชา ที่ผ่านมาซึ่งเรากำลังถูกกลไกของกฎหมายผูกให้ยึดติดกับระเบียบการที่ชาวบ้าน และคนธรรมดาไม่อาจเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการปลูก ผลิต และแปรรูป

 

ภาคธุรกิจรายย่อย สามารถเข้าถึงได้แค่เพียง กิ่ง ก้าน ใบ ซึ่งคนในแวดวงสายเขียวต่างเรียกว่า “ของเหลือ” แต่ก็ยังติดหลักเกณฑ์กฎหมาย ที่จะต้องขึ้นตรงกับหน่วยงานหลักคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเรื่องของออกข้อกำหนดด้านผลิตภัณฑ์และการแปรรูป

 

ดังนั้นจนถึงปัจจุบัน เราจึงเห็นว่า “กัญชา” เดินบนเส้นทางธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มของคนตัวเล็ก หรือ SME ได้อย่างเชื่องช้า และไม่เคยที่จะเติบโตได้อย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาตลาดบูมในช่วงการ “ปลดล็อกกัญชา” ก่อนจะซบเซาลงด้วยพิษเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด และระเบียบข้อกฎหมายที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กได้สามารถต่อยอดเดินต่อ

 

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลับ “ปั่นหุ้นกัญชา” เรียกรายได้เข้ากระเป๋าเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งที่เราไม่เคยเห็นต้นกัญชาในมือกลุ่มธุรกิจเหล่านี้แม้แต่ต้นเดียว

 

เช่นเดียวกับการปลูกอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจำกัดอยู่ในวงกลุ่มทุน นักการเมือง เพียงไม่กี่ราย หากไม่นับในส่วนของหน่วยงานรัฐ และสถาบันศึกษา (ซึ่งปัจจุบันเองก็เปลี่ยนจากหน่วยงานให้ความรู้ เป็นพ่อค้าขายใบกัญชา) ขณะที่เกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ไม่อาจเข้าถึง

 

เมื่อกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่สามารถขับเคลื่อนองคาพยพทั้งหมดได้ คำพูดสวยหรูว่า กัญชา จะเป็นพืชเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นเพียงคำกล่าวขายฝัน และเริ่มถึงทางตันเข้าไปทุกที หาก “กัญชา” จะกลับมาบูมอีกครั้ง วันนั้นก็คือวันที่ธุรกิจทั้งหมดอยู่ของมือนายทุนแบบเบ็ดเสร็จ

 

ย้อนกลับมาที่เรื่องของการ “ปลดล็อกกระท่อม” ที่อาจซ้ำรอย กับ “กัญชา” แม้วันนี้ชาวบ้านกำลังรื่นเริงกับการกิน ใช้ ปลูก ได้อย่างเสรี แต่หากนับจากนี้ไปไม่นาน เราก็จะติดปัญหาเดิมๆ คือข้อกฎหมาย ซึ่งตั้งใจจะออกแบบมาให้กับชาวบ้านได้เข้าถึง แต่ต้องมาติดเป็นคอขวดอยู่กับหน่วยงานเพียงไม่กี่หน่วยงานเช่นเดิม

 

แม้วันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2564 จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 3 เรียบร้อยแล้ว ก่อนส่งต่อการพิจารณาในขั้นตอนวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้ เป็นกฎหมาย หลายครั้งที่เราพูดถึงการ “บูรณาการร่วมกัน” ของหน่วยงานรัฐ แต่สุดท้ายก็จะเห็นได้ว่า ต่างคนต่างเดิน เหมือนเช่นทุกครั้ง

 

วันนี้ “กระท่อม” กำลังติดหล่ม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2562 ที่ยังคงกำหนดให้ กระท่อม เป็นพืชยาเสพติดประเภทที่ 5 ไม่สามารถผลิตเป็นอาหาร หรือเครื่องดื่ม เพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งหาก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2564 เสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว แต่ กระทรวงสาธารณสุข และอย. ยังคงไม่แก้หลักเกณฑ์ สุดท้าย “กระท่อม” ก็จะมีสถานะเดียวกันกับ “กัญชา” ไปต่อไม่ได้ ไปไม่สุด และไปไม่ถึงชาวบ้านเหมือนเดิม

 

หันไปมอง ธุรกิจใหญ่ เริ่มขยับตัว กระชับพื้นที่เข้าหา “กระท่อม” อีกครั้ง เรื่องลึกแต่ไม่ลับ พบว่ามีการวิ่งเต้นของดีลเมคเกอร์ เตรียมผุดโรงงานแปรรูปกระท่อม ทั้งผลิตภัณฑ์ยา บรรจุแคปซูล และเครื่องดื่มชูกำลัง เบื้องต้นเล็งเป้าไปที่ 135 หมู่บ้านนำร่องของปปส. พร้อมกำหนดราคากลางรับซื้อหน้าโรงงานเรียบร้อย กินรวบปิดทางเดินของคนธรรมดาแบบเบ็ดเสร็จ

 

สุดท้ายก็วนลูปการเป็น “พืชเศรษฐกิจ” ซึ่งราคาขึ้นลงตามความพอใจของนายทุน และจะมีเพียงคนไม่กี่คนที่ได้รับผลประโยชน์จากการทำธุรกิจเหล่านี้ ขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำของภาพการทำธุรกิจ ระหว่างเจ้าใหญ่ และรายเล็ก ออกไปอีกจนสุดกู่

 

ที่ผ่านมาเรามีบทเรียน จากข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด ล่าสุดก็ลำไย และ กัญชา สุดท้ายคนตัวเล็ก เกษตรกร ผู้ประกอบการ ก็ไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างที่ควรจะได้