บ้านจาก “ใยกัญชง” นวัตกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ประโยชน์จากพืชกัญชง ถูกนำมาใช้ในธุรกิจและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงการเป็นพืชอาหาร และเครื่องนุ่งห่ม เท่านั้น แต่วันนี้ “กัญชง” ได้กลายเป็นวัสดุก่อสร้างทางเลือก ในหมู่ผู้นิยม “บ้านสีเขียว” ในสหรัฐอเมริกา

 

ประเด็นดังกล่าว ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาสหรัฐฯ ของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่เน้นการพัฒนาเรื่องอุตสาหกรรมสีเขียว โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐ (DOE) ที่กำลังอุดหนุนงบให้กับงานวิจัยพัฒนาของเหล่าสตาร์ทอัพ ในการใช้พืชกัญชง เพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

โครงการนี้มีชื่อว่า Innovation Crossroads ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพในการพัฒนาวิจัยขยายการใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยคาร์บอน จาก กัญชง ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการลงทุนที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

ล่าสุด Hempitecture บริษัทสตาร์ทอัพในไอดาโฮ ได้รับทุนอุดหนุนเป็นรายปี ในการพัฒนาฉนวนกันความร้อนจากใยกัญชง ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มากถึง 200,000 ดอลลาร์ หรือมากกว่า 6.7 ล้านบาทต่อปี โดย DOE ได้ยกย่องว่างานวิจัยดังกล่าวถือเป็น “วัสดุฉนวนกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก”

 

ผลิตภัณฑ์ฉนวนกันความร้อนที่ได้จากการวิจัยนี้ มีศักยภาพในการแยกคาร์บอนออกจากฉนวน ความทนทานต่อความร้อนสูงและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้พลังงานภายในบ้าน และทำให้สภาพอากาศภายในบ้านดีขึ้นอีกด้วย

 

Tommy Gibbons ซีอีโอ ของ Hempitecture กล่าวถึงนวัตกรรมดังกล่าวว่า จะช่วยพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่ดีต่อสุขภาพ และมีคาร์บอนต่ำ ซึ่งมาจากเส้นใยที่เป็นของเหลือในอุตสาหกรรมการผลิตกัญชงของประเทศ ที่ช่วยให้ลดขยะ และการทำลายสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากสตาร์ทอัพรายดังกล่าวแล้ว สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) ของสหรัฐฯ ยังได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับ OlogyBricks บริษัทสตาร์ทอัพอีกรายในรัฐวอชิงตัน 100,000 ดอลลาร์ ประมาณ 3.37 ล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอิฐ สำหรับก่อสร้างบ้าน ที่ยั่งยืนซึ่งทำจากกัญชงในภาคอุตสาหกรรม

 

โดย OlogyBricks กล่าวถึงวัสดุอิฐดังกล่าวว่า “ทนทาน น้ำหนักเบา และปลอดคาร์บอน” ใช้แทนอิฐก่อสร้างแบบดั้งเดิมที่ทำจากคอนกรีตหรือวัสดุอื่นๆ

 

นอกจากการสนับสนุนการใช้ กัญชง เพื่อการผลิตวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว สหรัฐฯ ยังมีความพยายามที่จะปรับปรุงร่างกฎหมายของอุตสาหกรรมกัญชง ให้ทันสมัย มีแนวทางขยายการใช้นวัตกรรมจากกัญชงให้เป็นทางเลือกในผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆอีกด้วย

 

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย วันนี้เรื่องกัญชง ยังถูกมองเป็นเรื่องของการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่ง CBD ในกัญชง เป็นเพียงเป้าหมายเดียวเท่านั้น ในขณะที่การพัฒนาการใช้กาก หรือเส้นใยจากกัญชง ไม่ได้มีอะไรนอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

 

ดังนั้นการส่งเสริมแนวทางการใช้ กัญชง ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจ และสามารถสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้ประกบอบการ เข้าถึงได้

 

ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ขณะที่แผนการด้านอุตสาหกรรมสีเขียวของประเทศไทยยังคงเดินได้อย่างเชื่องช้า