อาหารฮาลาลไทย เดินหน้าอย่างไรในอาเซียน


++ตลาดอาหารฮาลาลกำลังเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากจากผู้ผลิตอาหารทั่วโลก เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารของผู้บริโภคชาวมุสลิมราว 2 พันล้านคนกำลังเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีตอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันตลาดอาหารฮาลาลมีมูลค่าสูงถึงราว 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 15% ของมูลค่าตลาดอาหารโลก

++เมื่อหันกลับมามองในประเทศไทย พบว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกอาหารฮาลาลเพียง 1% ของโลก โดยสินค้าส่งออกส่วนมากเป็นสินค้าวัตถุดิบฮาลาล เช่น ข้าว น้ำตาล และสัตว์น้ำ มากกว่าสินค้าอาหารฮาลาลแปรรูปซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มชาวมุสลิม ดังนั้นการเติบโตของตลาดอาหารฮาลาลในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยหันมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อผลิตอาหารฮาลาลแปรรูปรุกสู่ตลาดโลกมากขึ้น

++เส้นทางการเข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาลโลกนั้น ผู้ประกอบการเริ่มได้ด้วยการเข้าสู่ตลาดมุสลิมที่มีศักยภาพสูงในอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้มากกว่าประเทศมุสลิมอื่นๆ ในโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ประกาศตัวเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการผลิตอาหารฮาลาลโลกจากการมีฐานลูกค้าส่งออกเดิมที่เป็นชาวมุสลิมในกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ Organization of the Islamic Cooperation ทั้ง 57 ประเทศอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้รัฐบาลของทั้งสองประเทศยังได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว เพิ่มขึ้นด้วยการนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ส่งผลให้ตลาดอาหารฮาลาลของประเทศดังกล่าวยิ่งทวีความน่าสนใจมากขึ้น

++ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) มองว่ากลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันในทั้งสองตลาดได้ ก็คือการพลิก “คู่แข่ง” ให้กลายมาเป็น “คู่ค้า” ด้วยการร่วมลงทุนหรือเข้าซื้อกิจการคู่แข่งในท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งฐานการผลิตในประเทศดังกล่าว ดังเช่นกรณีของบริษัท Santory ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องดื่มสัญชาติญี่ปุ่นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของน้ำผลไม้ทิปโก้ในประเทศไทยที่เข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัท GarudaFood ของอินโดนีเซียจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มขึ้น  หรือในกรณีของบริษัท Thai Beverage ที่เข้าซื้อกิจการของบริษัท F&N เพื่อใช้ฐานการผลิตในมาเลเซียบุกเข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาลโลก

++ทั้งนี้ การมีฐานการผลิตร่วมกับคู่ค้าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผนวกจุดแข็งจากข้อได้เปรียบต่างๆ ของไทยคือความเชี่ยวชาญในการแปรรูปอาหาร และการมีวัตถุดิบอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เข้ากับจุดแข็งของคู่ค้า คือ ความเชี่ยวชาญในการกระจายสินค้าสู่ตลาดฮาลาลทั่วโลก รวมไปถึงช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนอากรต่างๆ จากการส่งเสริมของรัฐบาลทั้งสองประเทศ

++อีกมุมหนึ่งการมีฐานการผลิตในประเทศคู่ค้ายังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวเข้ากับกฎระเบียบท้องถิ่นเกี่ยวกับอาหารฮาลาลที่ซับซ้อนและมีจำนวนมากได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซียที่รัฐบาลกำลังเร่งออกกฎหมายให้อาหารทุกชนิดที่วางจำหน่ายต้องได้รับ “ฮาลาล” จากองค์กรสภาศาสนาแห่งอินโดนีเซีย (MUI) เท่านั้น ดังนั้นการอยู่ใกล้ชิดตลาดอินโดนีเซียจึงเป็นช่องทางที่ช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงเงื่อนไขและขั้นตอนการผลิตตามกระบวนการตรวจสอบของ MUI ได้มากขึ้น

++EIC เชื่อว่าเวลานี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดอาหารฮาลาล ก่อนที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ จะเข้าไปแข่งขันมากขึ้น นอกจากนี้ การเดินหน้าเข้าสู่ตลาดในเวลานี้ยังรองรับโอกาสที่ตลาดอาหารฮาลาลจะเติบโตขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคตอีกด้วย