ตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทยยังสดใส หลายปัจจัยเกื้อหนุน


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยปี 2557 มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 1,300-1,340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.0-8.0

ช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา แม้ว่าหลายธุรกิจจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซา ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ แต่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นธุรกิจหนึ่งที่เติบโตสวนกระแส แสดงให้เห็นจาก ภาพรวมการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยปี 2556 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,237.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 8.3 (YoY) สูงกว่ายอดการส่งออกรวมที่หดตัวร้อยละ 0.3 (YoY) ในขณะที่ 2 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 188.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 2.4 (YoY) ซึ่งยังคงรักษาอัตราการขยายตัวในระดับที่ดีกว่าการส่งออกรวมของไทยที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 (YoY) ทั้งนี้ จากทิศทางการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยที่ให้ภาพในเชิงบวก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2557จะยังเป็นขาขึ้นของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทย โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ ดังนี้

ความแข็งแกร่งในการเจาะตลาดส่งออกอันดับ 1 อย่างญี่ปุ่นโดยแรงหนุนมาจาก 1) ความได้เปรียบในเรื่องคุณภาพ/ดีไซน์ ความปลอดภัยและประโยชน์ใช้สอยของตัวสินค้า (สมเหตุสมผลกับราคา) ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่น 2) สินค้าที่มีการนำเข้าจากไทยสูง อาทิ เฟอร์นิเจอร์ไม้และชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพเหนือคู่แข่ง โดยเฉพาะจากจีนที่ยังมีข้อด้อยด้านทรัพยากรไม้ยางพาราที่มีจำนวนน้อยและยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 3) ญี่ปุ่นลดการพึ่งพาสินค้าจากจีน ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในการรับคำสั่งซื้อมากขึ้น 4) ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นมีการร่วมทุนกันเพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์และขยายตลาดกระจายสินค้า (Distributors) ในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น อนึ่ง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยยังส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 หรือมีสัดส่วนร้อยละ 23.7 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องติดตามประเด็นการขึ้นภาษีการขาย (Sales Tax) ของญี่ปุ่น จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในเดือนเมษายน 2557 ว่าจะส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศมากน้อยเพียงใดในระยะต่อไป

ตลาดสหรัฐฯและยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัว: ซึ่งสองตลาดนี้ถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญที่สุดในโลกสำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ เนื่องด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคภายในประเทศนิยมตกแต่งและเปลี่ยนแปลงเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น จึงเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยควรรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ โดยในปี 2557 คาดว่า คำสั่งซื้อจะกลับมาพลิกฟื้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หนุนให้ยอดการส่งออกไปยังตลาดกลุ่มนี้กลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากขยายตัวติดลบในปีที่ผ่านมา

 ตลาดอาเซียนและกลุ่มประเทศเกิดใหม่อย่าง BRICS เติบโตแบบก้าวกระโดด: อันเป็นผลมาจากการลงทุนด้านโครงการอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของที่พักอาศัย โรงแรม สำนักงานและธุรกิจบริการ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจ ตลอดจนการขยายไปสู่ความเป็นเมือง (Urbanization) ภายในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการของเฟอร์นิเจอร์เพื่อการตกแต่งเพิ่มมากขึ้น

กลยุทธ์ของผู้ประกอบการที่หันมารุกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น: โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการตลาด โดยอาศัยกลยุทธ์หลากหลายรูปแบบเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภค อาทิ การเข้าไปเปิดตลาดใหม่ๆ โดยการจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นกระจายสินค้าไปสู่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น การขยายสาขาแฟรนไชส์ร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงช่องทางการขายออนไลน์ ในขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนก็ได้ขยายฐานการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและแรงงาน อาทิ สปป.ลาว เมียนมาร์

จากปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยปี 2557 จะมีมูลค่าทั้งสิ้น 1,300-1,340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.0-8.0โดยมีสินค้าศักยภาพในการทำตลาด ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ส่วนตลาดที่น่าจับตามองในปีนี้ คือ ตลาดอาเซียน ที่คาดว่าจะมีโอกาสทะยานขึ้นสู่ตลาดส่งออกอันดับ 2 ได้ในปีนี้ (เป็นรองแค่ญี่ปุ่น) จากความต้องการเฟอร์นิเจอร์ภายในภูมิภาคที่เติบโตสูงแบบก้าวกระโดดรับ AEC

สำหรับธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทย ตลาดส่งออกถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะที่กำลังซื้อในประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแรง ดังนั้น การทำธุรกิจในระยะต่อไป การรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดหลัก ควบคู่กับการเพิ่มช่องทางการขายในตลาดศักยภาพ ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไทย มีช่องว่างในการเข้าไปเจาะตลาดผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ที่โอกาสเติบโตยังมีอีกมาก (ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยไปยังตลาดอาเซียน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 41.2 (YoY) โดยสามารถรักษาการเติบโตในระดับสูงไว้ได้อย่างต่อเนื่อง จากที่ขยายตัวร้อยละ 35.3 (YoY) ในปี 2556) จากปัจจัยหนุนจากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายในภูมิภาค การขยายความเป็นเมืองและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับการตกแต่งที่พักอาศัย ช่วยผลักดันความต้องการเฟอร์นิเจอร์เพิ่มสูงขึ้น

โดยกลยุทธ์ในการเจาะตลาด ผู้ประกอบการควรติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ควบคู่ไปกับการศึกษาไลฟ์สไตล์/รสนิยม/กระแสของผู้บริโภค รวมไปถึงเงื่อนไขและนโยบายของประเทศคู่ค้า เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดแต่ละประเทศ ในขณะเดียวกัน การอาศัยจุดแข็งของไทยโดยเฉพาะในเรื่องของการออกแบบดีไซน์และการตลาด เข้ามาเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์แนว Eco-friendly (สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) เฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็กและผู้สูงอายุ หรือเฟอร์นิเจอร์สำหรับตลาด Niche Market ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบวงจรในรูปแบบที่แตกต่าง เป็นต้น ยังทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันรวมถึงสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นได้