ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนมีนาคม 2557 ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งสะท้อนกังวลต่อภาวะการครองชีพ ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง ขณะที่ ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ลดต่ำลง ก็อาจสะท้อนว่า การใช้จ่ายภาคของครัวเรือนบางส่วน จะเผชิญกับหลายข้อจำกัดมากขึ้น
แม้สถานการณ์ราคาสินค้า และภาระค่าใช้จ่าย จะยังคงเป็นประเด็นหลักที่ภาคครัวเรือนกังวล แต่แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน ก็กดดันให้ครัวเรือนจำนวนมากขึ้นเริ่มวิตกกังวลต่อทิศทางรายได้และเงินออมในอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจัดทำดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) ขึ้น เพื่อให้เป็นเครื่องชี้สำหรับการติดตามภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือนในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ จากผลสำรวจล่าสุด สะท้อนว่า ภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือนมีสถานการณ์ที่แย่ลงต่อเนื่อง และอาจต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าจะฟื้นตัว ซึ่งก็เป็นภาพที่สอดคล้องกับแนวโน้มที่ยังไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจ-การเมืองไทยในขณะนี้
ภาวะการครองชีพของครัวเรือน…น่ากังวลมากขึ้น
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 42.1 ในเดือนมีนาคม 2557 จากระดับ 44.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดยค่าดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน อาจสะท้อนว่า ปัญหาการครองชีพยังคงเป็นประเด็นกังวลหลักของภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 43.5 ลดลงค่อนข้างมากจากระดับ 47.9 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นนัยว่า อาจต้องใช้เวลานานมากขึ้นกว่าที่สถานการณ์ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ทั้งนี้ ภาคครัวเรือนหลายกลุ่มเริ่มมีความวิตกต่อระดับรายได้ เพิ่มเติมจากภาระการครองชีพด้านอื่นๆ ทั้งในเรื่องของทิศทางราคาสินค้า หนี้สิน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
องค์ประกอบที่สะท้อนกำลังซื้อของประชาชน (ทั้งระดับรายได้และเงินออม) ที่ลดต่ำลงในเดือนมีนาคม 2557 เพิ่มแรงกดดันมากขึ้นต่อภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือน โดยดัชนีองค์ประกอบด้านรายได้ ลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ทั้งส่วนของดัชนีปัจจุบัน (ปรับตัวลงมาที่ 46.3 จาก 49.6 ในเดือนก่อน) และดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (ปรับตัวลงมาที่ 46.4 จาก 51.0 ในเดือนก่อน) ขณะที่ ดัชนีองค์ประกอบด้านเงินออม ก็ลดต่ำลงเช่นเดียวกัน โดยดัชนีองค์ประกอบด้านเงินออมคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลงมาที่ระดับ 48.2 จาก 61.9 ในเดือนก่อน ซึ่งอาจบ่งชี้ว่า ผู้บริโภคบางกลุ่มกำลังเผชิญปัญหาการครองชีพที่เริ่มกดดันมากขึ้น เพราะในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายในหลายๆ ด้านยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่รายได้และชั่วโมงการทำงานของประชาชนบางกลุ่มอาจผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจ โดยจากผลสำรวจพบว่า กลุ่มอาชีพที่มีมุมมองเชิงลบมากขึ้นต่อสถานการณ์รายได้และการมีงานทำ เป็นผู้ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และเกษตรกร ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ประจำ เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานบริษัทเอกชน จะมีมุมมองเชิงลบน้อยกว่า
ซึ่งภาพดังกล่าวสอดคล้องไปกับการขยับขึ้นของอัตราการว่างงานและจำนวนผู้ว่างงานในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสาขาการก่อสร้างและภาคการเกษตร
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ดัชนี KR-ECI ที่ปรับตัวลงสะท้อนภาวะที่ย่ำแย่ในการครองชีพของภาคครัวเรือนดังกล่าวข้างต้น เป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับภาวะและแนวโน้มของเศรษฐกิจ-ธุรกิจที่ไม่น่าจะกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ตราบใดที่ยังคงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนสำหรับสถานการณ์ทางการเมือง นอกจากนี้ คงต้องยอมรับว่า ความเสี่ยงต่อภาวะการชะลอตัวยาวนานของเศรษฐกิจไทยนั้น ยังมีนัยต่อเนื่องมาที่ภาวะการมีงานทำ และความมั่นคงทางด้านรายได้-เงินออมของภาคครัวเรือนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง