อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.11 ผลมาจากราคาอาหารสูง


อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมี.ค. 2557 ยังคงขยับขึ้นตามที่คาด อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.11 (YoY) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 1.31 (YoY) โดยแรงหนุนของเงินเฟ้อยังคงมาจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารเป็นสำคัญ

แม้การบริโภคภาคเอกชนน่าจะยังมีทิศทางชะลอตัวในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่ทิศทางราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการ อาจยังคงปรับสูงขึ้นตามภาวะต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2/2557 อาจมีค่าเฉลี่ยราวร้อยละ 2.2 (YoY) สูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.0 ในไตรมาสแรกของปี

สำหรับภาพรวมในปี 2557 เส้นทางการฟื้นตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนที่ยังไม่ชัดเจนมากนักในเวลานี้ ทำให้ประเมินว่า แม้แรงกดดันเงินเฟ้ออาจทยอยปรับสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แต่ก็ยังน่าจะอยู่ในกรอบที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.2-2.6

 

เงินเฟ้อที่ขยับขึ้น … สวนทางการใช้จ่ายภาคครัวเรือน

                ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมี.ค. 2557 ขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.22 (MoM) นำโดย ราคาสินค้าในหมวดอาหาร/เครื่องดื่มที่ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.45 (MoM) ทั้งในส่วนของอาหารสด (เนื้อสัตว์ และผลไม้) และอาหารบริโภคนอกบ้าน ขณะที่ ราคาในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร/เครื่องดื่ม ก็ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.10 (MoM) ตามการขยับขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ร้อยละ 2.11 (YoY) ในเดือนมี.ค. 2557 เทียบกับร้อยละ 1.96 (YoY) ในเดือนก.พ. 2557 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีที่ร้อยละ 1.31 (YoY) ในเดือนมี.ค. 2557 จากร้อยละ 1.22 (YoY) ในเดือนก่อนหน้า อนึ่ง ทิศทางราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นภาพที่สวนทางกับสถานการณ์การบริโภคของภาคเอกชนที่อยู่ในภาวะหดตัวตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2556 เป็นต้นมา

 

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ…อาจทยอยขยับขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2557

                ในระยะสั้น การส่งผ่านภาระต้นทุนจากฝั่งผู้ประกอบการ และสภาพอากาศที่แปรปรวน (มีผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าในหมวดอาหารสด) น่าจะทำให้ทิศทางราคาสินค้า ยังคงภาพการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 2.2 (YoY) ในช่วงไตรมาส 2/2557 สูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.0  (YoY) ในไตรมาส 1/2557 และร้อยละ 1.7 (YoY) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ตามลำดับ

ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าว จะยังคงไม่สูงมากนัก แต่คงต้องยอมรับว่า การเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ก็เป็นหนึ่งในตัวแปรที่มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการบริโภคภาคเอกชนน่าจะหดตัวต่อเนื่องประมาณร้อยละ 2.2 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557

                สำหรับภาพรวมในปี 2557  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2557 มีแนวโน้มขยับขึ้นจากในปี 2556 โดยแม้ในภาวะที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจและรายได้ และเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยนั้น อาจทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนชะลอแผนการปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อที่จะรักษาฐานลูกค้าไว้ อย่างไรก็ดี ต้นทุนการผลิตของบางสินค้าที่สูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ อาหารสด สินค้านำเข้า และเชื้อเพลิง ก็อาจยังคงต้องทยอยส่งผ่านมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภคขั้นสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจทยอยมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-การเมืองไม่ได้มีภาพที่แย่ลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.4 (โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2-2.6) ขยับขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.2 ในปี 2556 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็มีโอกาสขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 1.5 (โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.3-1.7) เทียบกับร้อยละ 1.0 ในปี 2556