การค้าผ่านชายแดนสู่ตลาดอินโดจีนบูมต่อเนื่อง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 มูลค่าการค้าชายแดนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แตะระดับ 9.5 แสนล้านบาท และน่าจะเติบโตได้ถึง 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2559 ส่วนมูลค่าการค้าผ่านแดน คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 12 ส่งผลให้ในปีนี้มูลค่าการค้าชายแดนผนวกกับการค้าผ่านแดนจะมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท

 

ในปัจจุบัน ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่างเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา (CLM)  รัฐบาลมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้เติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดีขึ้น อาทิ เมียนมาร์ มีแผนการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี (2555-2559) โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มอัตราการเติบโตของจีดีพีให้อยู่ที่ร้อยละ 7.7 ต่อปี และทำให้จีดีพีต่อหัวเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน (ตัวเลขจีดีพีต่อหัวของเมียนมาร์ในปี 2556 ประมาณการโดย IMF อยู่ที่ 915 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี)  ส่วน สปป.ลาว มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (2554-2558) ซึ่งกำหนดกรอบตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 8 ต่อปี และพัฒนาให้ประชากรมีจีดีพีต่อหัว (GDP per capita) อยู่ที่ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2558 ในขณะที่ กัมพูชา ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพาณิชยกรรมฉบับที่ 3 (2557-2561) ที่มุ่งดำเนินวิธีการต่างๆ ให้กัมพูชาได้รับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน และเตรียมพร้อมรองรับมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาคาดว่าในปี 2557 เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 7

นอกจากทั้ง 3 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยแล้ว เวียดนาม ก็เป็นอีกประเทศที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ ได้อย่างโดดเด่น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในวัยแรงงาน ค่าแรงยังค่อนข้างต่ำ และมีการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 6-7 ต่อปี

การค้าผ่านชายแดนขยายตัวต่อเนื่อง

 

แม้การค้าชายแดนของไทยในปี 2557 (ม.ค-มี.ค.) จะคิดเป็นเพียงร้อยละ 6.6 ของมูลค่าการค้ารวม แต่ก็มีการขยายตัวอย่างโดดเด่นมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4 ของมูลค่าการค้ารวมในปี 2550 ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2554 ที่การส่งออกรวมของไทยเริ่มประสบปัญหาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ทำให้ดุลการค้าของไทยในรูปเงินบาทอยู่ในฐานะขาดดุลมาเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน (ปี 2554-2556) ซึ่งเป็นภาพที่สวนทางกับการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 การส่งออกผ่านชายแดนของไทยมีมูลค่าถึง 1.5 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.7 YoY โดยการส่งออกไปเมียนมาร์ผ่านทางชายแดนขยายตัวถึงร้อยละ 17.6 YoY ซึ่งด่านแม่สอดเป็นด่านที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด ในขณะที่กัมพูชาและสปป.ลาวก็เติบโตสูงเช่นกันที่อัตราร้อยละ 12.5 YoY และ 8.7 YoY ตามลำดับ แต่การส่งออกไปมาเลเซียยังหดตัว เนื่องจากการชะลอตัวของราคายางพาราในตลาดโลก ดังนั้น เมื่อดูมูลค่าการส่งออกตามชายแดน เฉพาะ 3 ประเทศ (เมียนมาร์ กัมพูชา และสปป.ลาว) จะเห็นว่ามีการเติบโตต่อเนื่องอยู่ในแดนบวกมาโดยตลอด สะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดเพื่อนบ้าน

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 มูลค่าการค้าชายแดนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.8 YoY แตะระดับ 9.5 แสนล้านบาท และน่าจะเติบโตได้ถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2559 และหากไม่นับรวมการค้าผ่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปีนี้มูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชาจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 9 YoY ทั้งนี้ สินค้าที่มีโอกาสเติบโตสูงยังคงเป็นสินค้าจำพวกสินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง และชิ้นส่วนยานยนต์ สำหรับด่านชายแดนที่จะเติบโตเป็นดาวเด่นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ด่านแม่สอด-เมียวดี ด่านหนองคาย-เวียงจันทน์ และด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต

นอกจากการค้าชายแดนแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถทำการค้าผ่านแดน โดยขนส่งผ่านประเทศเพื่อนบ้านไปยังเวียดนาม จีนตอนใต้ และสิงคโปร์ แม้ในปัจจุบัน การค้าผ่านแดนยังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) แต่ในอนาคต การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง และการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นตัวกระตุ้นให้การขนส่งผ่านแดน โดยเฉพาะเส้นทางไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 มูลค่าการค้าผ่านแดนจะขยายตัวได้ร้อยละ 12 YoY ส่งผลให้ในปีนี้มูลค่าการค้าชายแดนผนวกกับการค้าผ่านแดนจะมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท