การส่งออกเดือนเม.ย. 57 หดตัวร้อยละ 0.87…ต้องติดตามการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง


มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนเม.ย. 2557 หดตัวอย่างต่อเนื่องมากกว่าที่คาด ที่ร้อยละ 0.87 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนเม.ย. 2557 จากกระทรวงพาณิชย์ ออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นภาพที่ตอกย้ำว่า จังหวะการฟื้นตัวของสินค้าและ/หรือตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย อาจจะยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกรายการสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา บ้างแล้วก็ตาม ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนเม.ย. 2557 หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ที่ร้อยละ 0.87 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอ่อนแอกว่าตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 1.0) และผลสำรวจนักวิเคราะห์โดยรอยเตอร์ (คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 0.5) ค่อนข้างมาก และกดดันให้ภาพรวมการส่งออกของไทย หดตัวลงร้อยละ 0.97 (YoY) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 และร้อยละ 2.3 (YoY) ในกรณีที่ไม่นับรวมทองคำ

 

การส่งออกเดือนเม.ย. 2557 หดตัวลงต่อเนื่อง

ภาพรวมการส่งออกเดือนเม.ย. 2557 อ่อนแอกว่าที่คาด โดยมูลค่าการส่งออกบันทึกที่ 17,249 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 0.87 (YoY) ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 3.12 (YoY) ในเดือนมี.ค. 2557 โดยหากไม่นับรวมการส่งออกสินแร่ เชื้อเพลิง และทองคำ ที่หดตัวร้อยละ 18.2 (YoY) แล้ว การส่งออกสินค้าหลักของไทย จะเติบโตเพียงร้อยละ 0.44 (YoY) ในเดือนเม.ย.

นอกจากนี้ หากปรับผลจากปัจจัยเชิงฤดูกาลของเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นเดือนที่มีวันหยุดค่อนข้างมากออกแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มูลค่าการส่งออก (ที่ปรับฤดูกาล) ยังคงหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.1 (MoM, s.a.) ซึ่งนับเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา และบ่งชี้ว่า การพลิกฟื้นสถานการณ์ในภาคการส่งออกยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่น้อยต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

ตัวเลขการส่งออกเดือนเม.ย.ดังกล่าว สะท้อนว่า จังหวะการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกรายการสำคัญของไทย ยังเป็นไปอย่างไม่พร้อมเพรียงกัน โดยแรงฉุดจากการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร (โดยเฉพาะยางพารา อาหารทะเลแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง/แปรรูป และน้ำตาล) รถยนต์ อุปกรณ์/ส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์/ส่วนประกอบ ที่หดตัวลงร้อยละ 5.9 (YoY) ร้อยละ 0.9 (YoY) และร้อยละ 7.5 (YoY) ตามลำดับ หักล้างภาพการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.8 (YoY) ร้อยละ 1.7 (YoY) ร้อยละ 12.7 (YoY) และร้อยละ 5.6 (YoY) ตามลำดับ

การส่งออกไปตลาดหลักยังประคองสัญญาณการฟื้นตัว แต่คู่ค้าที่สำคัญฝั่งเอเชียยังซบเซา ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกของไทยไปตลาดในกลุ่ม G-3 ขยายตัวร้อยละ 0.3 (YoY) นำโดย การส่งออกไปยังสหรัฐฯ (เพิ่มร้อยละ 0.6 YoY) และสหภาพยุโรป 15 ประเทศ (เพิ่มร้อยละ 5.4 YoY) ที่ขยายตัวต่อเนื่อง และช่วยชดเชยภาพการหดตัวของการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น ไว้ได้บางส่วน (ลดลงร้อยละ 4.5 YoY ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษีการบริโภคในญี่ปุ่นเป็นร้อยละ 8.0 ในเดือนเม.ย.)  อย่างไรก็ดี เส้นทางการฟื้นตัวของการส่งออกไทยไปจีนและอาเซียน ยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง ร้อยละ 9.5 (YoY) และร้อยละ 1.9 (YoY) ตามลำดับ โดยอาจกล่าวได้ว่า การส่งออกไปยังคู่ค้าหลักในภูมิภาคเอเชีย มีทิศทางที่อ่อนแอยาวนานกว่าที่ประเมินไว้

 

สถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี

ภาพรวมการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 ที่ยังคงมีทิศทางที่อ่อนแอนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการฟื้นตัวที่ค่อนข้างล่าช้าของสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์/ส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์/ส่วนประกอบ ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยางพารา เคมีภัณฑ์ ประกอบกับสัญญาณเศรษฐกิจจีนและอาเซียน ซึ่งล้วนเป็นคู่ค้าหลักของไทยในภูมิภาคเอเชีย ก็ซบเซาลงอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปีเช่นกัน สถานการณ์ของภาคการส่งออกดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2557 อย่างระมัดระวัง แม้จะยังคงคาดว่า จังหวะการฟื้นตัวของการส่งออกน่าจะทยอยเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2/2557 โดยมีแรงหนุนจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน และการประคองทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ราคาสินค้าเกษตรส่งออกของไทยก็เริ่มปรับเข้าใกล้ราคาสินค้าส่งออกของคู่แข่งมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกที่ร้อยละ 3.0-6.0 (ค่ากลางร้อยละ 5.0) ไว้ ณ ขณะนี้ แต่จะติดตามโมเมนตัมการฟื้นตัวของสินค้าและตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 เดือนหลังจากนี้ หลังจากข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมล่าสุด สะท้อนว่า บางอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องรับโทรทัศน์/วิทยุ เตรียมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย