ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนพฤษภาคม 2557 และดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ขยับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 42.4 และระดับ 43.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ก็เป็นนัยว่า ภาคครัวเรือนยังมีมุมมองเชิงระมัดระวังต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจัดทำดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) ขึ้น เพื่อให้เป็นเครื่องชี้สำหรับการติดตามภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือนในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ จากผลสำรวจล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2557 (สำรวจในช่วงก่อนการเข้าควบคุมอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ดัชนี KR-ECI ขยับสูงขึ้นกว่าเดือนก่อน แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งก็สะท้อนว่า ภาคครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาวะการครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นด้านราคาสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2557 ที่เพิ่มขึ้นไปที่ร้อยละ 2.62 (YoY) สูงสุดในรอบ 14 เดือน
การใช้จ่ายภาคครัวเรือน…มีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน มาที่ 42.4 ในเดือนพฤษภาคม 2557 จากระดับ 41.9 ในเดือนเมษายน 2557 อย่างไรก็ดี ดัชนี KR-ECI ที่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ก็สะท้อนว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนน่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะฟื้นตัวกลับสู่สถานการณ์ปกติ ทั้งนี้ แรงกดดันจากภาระรายจ่ายยังคงมีผลกระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน แม้ว่า ดัชนีองค์ประกอบด้านรายได้ และเงินออม เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง แต่ดัชนีองค์ประกอบด้านราคาสินค้า และค่าใช้จ่ายไม่รวมภาระหนี้ ยังคงถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) เริ่มขยับขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ 43.0 จาก 42.7 ในเดือนก่อน โดยเป็นผลมาจาก ดัชนีคาดการณ์ฯ ด้านรายได้ ที่ขยับขึ้นมาที่ 49.5 (เข้าใกล้ระดับ 50) ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ฯ ในด้านภาระรายจ่ายยังไม่ดีขึ้นเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม หลังจากผู้บริโภคได้รับรู้เกี่ยวกับมาตรการเศรษฐกิจที่เพิ่งทยอยประกาศออกมา ก็มีความเป็นไปได้ที่ผลการสำรวจในเดือนถัดๆ ไปอาจเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสถานการณ์ทางการเมืองดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อย ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อเส้นทางการฟื้นตัวของการบริโภค และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในระยะข้างหน้า
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เหตุการณ์ทางการเมืองที่เริ่มนิ่งมากขึ้น และความคาดหวังต่อผลเชิงบวกจากมาตรการภาครัฐในการดูแลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ อาจช่วยทำให้มุมมองต่อภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือน เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่กระนั้น คาดว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน (โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีสุขภาพทางการเงินอ่อนแอ) น่าจะยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ราคาสินค้า และภาระรายจ่ายในส่วนอื่นๆ