SMEs ถือเป็นกลุ่มที่หลายๆหน่วยงานรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าอาจเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ก็เริ่มเห็นสัญญาณการผิดชำระหนี้ เนื่องจากการขาดสภาพคล่องในระดับหนึ่งแล้วมา อย่างไรก็ตาม ทั้งธนาคารพาณิชย์และหน่วยงานราชการก็ได้มีการออกมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ซึ่งก็ส่งผลให้สถานการณ์ของเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมาและไปข้างหน้ายังพอประคองตัวไปได้บ้าง โดยเฉพาะหากสถานการณ์ทางการเมืองหลังการทำรัฐประหารเริ่มมีความชัดเจนและคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น และมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเพื่อบริหารงาน ซึ่งช่วยขับเคลื่อนให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีในช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะสามารถมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากในครึ่งปีแรก โดยคาดว่าอาจมีการขยายตัวที่ไม่ต่ำกว่า 7.5% ได้ในปีนี้
ทั้งนี้สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/2557 สินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีมีการเติบโตชะลอลงโดยอยู่ที่ 11.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จาก 14.1% ณ สิ้นไตรมาส 4/2556 ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอลงต่อเนื่อง สำหรับแนวโน้มสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีสิ้นไตรมาส 2/2557 นั้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น ผนวกกับกำลังซื้อภายในประเทศที่อาจปรับตัวขึ้นหลังมีการทยอยจ่ายเงินค่าจำนำข้าวที่ค้างอยู่ให้แก่ชาวนา ดังนั้น จึงคาดว่าสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีน่าจะสามารถเติบโตในอัตราไม่ต่ำกว่า 7.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหากมาตรการต่างๆเหล่านั้นสามารถกระตุ้นให้กลไกของเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้แล้ว คาดว่าจะช่วยส่งผลให้สินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีสามารถกลับมาขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น (QoQ) ได้ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ทิศทางสินเชื่อเอสเอ็มอีในช่วงครึ่งปีหลังของปีจะมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก
มาตรการจากภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ที่จะออกมาเพิ่มเติมจากที่ทำอยู่แล้วเพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่ประสบปัญหาทางการเงิน ดังนี้
-
มาตรการระหว่างธนาคารพาณิชย์และ บสย. สำหรับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องแต่เผชิญข้อจำกัดด้านหลักประกัน ในปัจจุบันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)และธนาคารพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางในการปรับการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 18% เป็น 50% ของวงเงินสินเชื่อ โดยภาครัฐอาจดึงสถาบันค้ำประกันสินเชื่อจากต่างชาติมาร่วมค้ำประกันกับ บสย. เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีความเชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน มิถุนายน 2557 นอกจากนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยังร่วมกับธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ เตรียมออกโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเอสเอ็มอี อาทิ โครงการ SMEs Restart ซึ่ง สสว. จะร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้แก่เอสเอ็มอีในอัตราร้อยละ 3% ต่อปี ตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายและเสริมสภาพคล่องของเอสเอ็มอี
-
มาตรการจากทางการ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และต้องการการสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจในด้านอื่นๆนอกจากด้านการเงิน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้ทยอยออกมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือเช่นเดียวกัน เช่น
-
ในส่วนของบสย.จะออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยให้ยืดเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันออกไปอีก 6 เดือน(สำหรับลูกค้าเดิมของ บสย.ที่จะถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่ 1 มิ.ย.2557 ถึง 31 ธ.ค.2557) การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการกลุ่มรายย่อย Micro SMEs ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย วงเงิน 5,000 ล้านบาท การให้รัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่ม OTOP ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการ OTOP วงเงิน 10,000 ล้านบาท เป็นต้น
-
ด้านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ก็มีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนศักยภาพของเอสเอ็มอี เช่น ลงนามความร่วมมือข้อตกลงกับ 22 หน่วยงาน ซึ่งรวมกลุ่มของสถาบันการเงิน กลุ่มส่งเสริมด้านการค้า กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น นอกจากนี้ สสว.ยังเตรียมที่จะมีโครงการที่สนับสนุนเอสเอ็มอีเฉพาะกลุ่ม เช่น ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการส่งเสริมธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียน และร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ จัดทำโครงการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อการค้าชายแดน รวมถึงจัดทำโครงการที่ส่งเสริมธุรกิจภาคการผลิต เช่น ลดดอกเบี้ยให้เอสเอ็มอีที่ปรับปรุงเครื่องจักรการผลิต และโครงการทดสอบและวิจัยพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน
และจากภาวะการปรับตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง เชื่อว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่คาดว่าต้องการสินเชื่อเพิ่มได้แก่
• สินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนเอสเอ็มอีของภาครัฐและเอกชน หลังจากที่มีความชัดเจนทางการเมือง อาทิ
-
สินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร
-
สินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการขายส่งและขายปลีก
-
สินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการให้บริการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
-
สินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับอานิสงส์จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 โดยเฉพาะงบลงทุน
-
สินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการส่งออก
กล่าวโดยสรุป ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจต่อกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เริ่มมีปัญหาในการขาดสภาพคล่อง ผนวกกับความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจที่ชะลอลงและส่งผลให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนชะลอลงในไตรมาสแรกนั้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 2/2557 ผนวกกับกำลังซื้อภายในประเทศที่อาจปรับตัวขึ้นหลังมีการทยอยจ่ายเงินค่าจำนำข้าวที่ค้างอยู่ให้แก่ชาวนา ดังนั้น จึงคาดว่าสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี ณ สิ้นไตรมาส 2/2557 น่าจะสามารถเติบโตในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 7% อย่างไรก็ตาม ในส่วนแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีในช่วงครึ่งปีหลังปี 2557 นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะมีการนำเสนอออกมาเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ยังเหลืออยู่ของปีให้สามารถฟื้นตัวได้โดยเร็ว ซึ่งหากมาตรการต่างๆเหล่านั้นสามารถกระตุ้นให้กลไกของเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้แล้ว จะช่วยส่งผลให้สินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีสามารถกลับมาขยายตัวได้ในอัตราที่เพิ่มขึ้นได้ในลักษณะไตรมาสต่อไตรมาสในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ทิศทางสินเชื่อเอสเอ็มอีในช่วงครึ่งปีหลังของปีจะมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเติบโตของสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี ณ สิ้นปี 2557 อาจมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 7.5% โดยคาดว่าจะยังมีความต้องการสินเชื่อจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในบางกลุ่มที่ธุรกิจน่าจะมีแนวโน้มสามารถเติบโตได้ อาทิ กลุ่มผู้ประกอบที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนเอสเอ็มอีของภาครัฐและเอกชน เช่น กลุ่มผู้ประกอบการเกษตร กลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ประกอบการขายส่งและขายปลีกในบางพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังมีโอกาสเติบโต เช่น ผู้ประกอบการขนาดกลางที่น่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของการส่งออก รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่ให้ไม่ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรธุรกิจ เช่น ให้บริการทางการแพทย์ เป็นต้น