นิคมอุตสาหกรรมครึ่งหลังฟื้นตัว ผลจากการเมืองนิ่ง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ภาพรวมของกิจกรรมการซื้อขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในปี 2557  จะหดตัวลงร้อยละ 18.9 ถึงร้อยละ 27.2 ต่อเนื่องจากที่หดตัวประมาณร้อยละ 56.3 ในปี 2556 ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่ชะลอลงจากไตรมาสแรกของปี 2557 ที่หดตัวประมาณร้อยละ 70.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่ายอดขายพื้นที่ใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 จะสามารถกลับมาเติบโตได้ประมาณร้อยละ 3.7-9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ที่ผ่านมา ภาพรวมของกิจกรรมการลงทุนในประเทศค่อนข้างชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการเมืองในประเทศที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายการบริหารประเทศที่ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ประกอบกับความไม่แน่นอนในการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ และความล่าช้าในการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ ส่งผลทำให้การพิจารณาโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนจากต่างชาติที่ชะลอลง เห็นได้จากสถิติของคณะกรรมการส่งเสริมการทุน หรือบีโอไอ พบว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 จำนวนโครงการจากต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติมีจำนวนเพียง 332 โครงการ ลดลงร้อยละ 43.2 โดยมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 30,222 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 87.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ ผลจากการชะลอตัวของภาคการลงทุน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง (ความหมายในที่นี้รวมนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรม) เห็นได้ว่าในปี 2557 นี้ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าหมายการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในระดับที่ลดลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งในปี 2556 ที่ผ่านมา จากข้อมูลของ บริษัท ซีบีริชาร์ด เอลลิส จำกัด ระบุว่า ยอดขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมมีประมาณ 4,750 ไร่ หดตัวลงร้อยละ 56.3 เมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มีการขายพื้นที่สูงถึงประมาณ 10,870 ไร่

สำหรับสถานการณ์ของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา แม้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบางรายยังได้รับประโยชน์จากกิจกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในการซื้อขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม (ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนชะลอการโอนฯกรรมสิทธิ์ที่ดินจากในช่วงท้ายปีที่ผ่านมา) แต่เมื่อพิจารณากิจกรรมการขายพื้นที่ใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการรายใหญ่ยังชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า

แนวโน้มภาพรวมนิคมอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี 2557 นี้ คาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลาย ประกอบกับเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ การเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวให้แก่ชาวนา การเร่งขับเคลื่อนการลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 การแก้ปัญหาภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่ปรับตัวสูงขึ้น และโดยเฉพาะการเข้ามาแก้ไขปัญหาการอนุมัติโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนที่รอการพิจารณาอนุมัติมูลค่าประมาณ 700,000 ล้านบาท ประมาณ 700 โครงการ โดยทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้วางกรอบการพิจารณาโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนที่ค้างการอนุมัติให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมการลงทุนกลับมาดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่มีแผนจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอาเซียน โดยจากสถิติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ พบว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 จำนวนโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติมี 334 โครงการ ลดลงร้อยละ 36.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาในส่วนของมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 229,980 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการลงทุนส่วนใหญ่มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยเฉพาะการลงทุนผลิตรถยนต์ประเภทประหยัดพลังงาน หรืออีโคคาร์เฟส 2  ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่นักลงทุนต่างชาติในกลุ่มนี้ยังให้ความสนใจขยายการลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ภายใต้ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 นี้ ยอดขายพื้นที่ใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมน่าจะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 3.7-9.7 จากที่หดตัวประมาณร้อยละ 57.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยคาดว่าภาพรวมการขายพื้นที่ใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมในปี 2557 นี้ น่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3,500-3,900 หดตัวลงร้อยละ 18.9 ถึงร้อยละ 27.2 จากปี 2556 ทั้งนี้ แม้ว่ารายได้จากการขายพื้นที่ใหม่ในปีนี้จะยังลดลงและการฟื้นตัวของรายได้ในส่วนนี้อาจต้องรอไปจนถึงปีหน้า แต่รายได้จากการให้บริการด้านสาธารณูปโภคและการให้เช่าโรงงานและคลังสินค้า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ยังเติบโตได้ตามระดับการผลิตและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังมีความต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้น จากโครงการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและเป็นฐานที่ตั้งของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของบริษัทชั้นนำที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 (AEC: ASEAN Economic Community 2015) ซึ่งภายใต้สนธิสัญญาการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ คือ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน และด้วยการพัฒนาโครงข่ายถนนเชื่อมโยงระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศให้มีความคล่องตัวขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS: Great Mekong Subregion) ซึ่งหนึ่งในหลายๆ กรอบความร่วมมือ อาทิ การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง และการขนส่งสินค้าข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น

โดยสรุป แม้คาดว่าสถานการณ์การเมืองน่าจะเป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการลงทุน และต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมก็ตาม แต่กระนั้นก็ดี การเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมในระยะยาวยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติ โดยองค์ประกอบสำคัญที่จะดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยนอกจากจะขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศแล้ว ความชัดเจนของกฎหมาย (เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ควรจะมีการออกกฎข้อบังคับให้ชัดเจน เพื่อที่นักลงทุนจะได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ) และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (เช่น ระบบการขนส่งที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เป็นต้น) รวมถึงต้นทุนการดำเนินธุรกิจ (อาทิ ค่าจ้างแรงงาน ค่าธรรมเนียมการทำธุรกิจ ค่าขนส่งสินค้า เป็นต้น) ประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยของนักลงทุนต่างชาติ และเป็นโจทย์ที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาแก้ไขอุปสรรค ปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานรองรับการลงทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนของประเทศต่อไป เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมไม่เป็น

เพียงแต่การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการแข่งขันกันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรัฐบาลประเทศเหล่านี้ต่างผลักดันนโยบายในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน และที่ผ่านมาประเทศไทยได้สูญเสียการลงทุนบางส่วนไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้

สำหรับแนวโน้มการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่กระจายตัวไปยังจังหวัดยุทธศาสตร์ในภูมิภาค เพื่อรองรับกิจกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างชายแดน หรือเพื่อการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนั้น ยังคงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ด้านคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น การพัฒนาระบบราง ที่ปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการที่จะสนับสนุนกิจกรรมการขนส่งในประเทศ ทำให้การขนส่งสินค้าในไทยยังต้องพึ่งพาการขนส่งทางถนนเป็นหลัก ซึ่งมีต้นทุนการขนส่งค่อนข้างสูงจากราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้น และการพัฒนาด้านนโยบายให้กิจกรรมการขนส่งสินค้ามีความเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ เป็นต้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค เช่น ระบบประปาและไฟฟ้า เพื่อสามารถรองรับกิจกรรมเศรษฐกิจที่ขยายตัวทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมและภาคบริการ ประกอบกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการวางแผนยุทธศาสตร์นโยบายการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในภูมิภาคต่างๆของไทยให้ชัดเจน โดยควรมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้กระบวนการผลิตเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น