โอกาสศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าไทย


การจัดงานภายในประเทศไตรมาศที่ 4 หนุนธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าปี 2557 เติบโตได้เล็กน้อย

                จากปี 2556 มาถึงปี 2557 นี้ การเมือง และภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณขององค์กรต่าง ๆ มีความระมัดระวังและคำนึงถึงความคุ้มค่ามากขึ้น อาจมีการยกเลิก หรือเลื่อนการจัดงานออกไป แม้จะมีการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วก็ตาม ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจึงเป็นธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้า เนื่องจากรายได้หลักมาจากการจัดสรรงบประมาณในการจัดงานต่าง ๆ

                นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE (Meetings, Incentives, Conferences, and Exhibitions: MICE) ซึ่งเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อข่าวสาร ชะลอการเดินทางมาประเทศไทย ผู้จัดงานจึงยกเลิกหรือเลื่อนการประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมนานาชาติ และการจัดแสดงสินค้านานาชาติออกไป โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านการเมืองกระทบต่องานจัดแสดงที่มีความต้องการจัดแสดงในเมืองหลวง ได้แก่ การประชุมการจัดประชุมนานาชาติ และการจัดแสดงสินค้านานาชาติ ต้องย้ายจากประเทศไทยไปยังประเทศสิงคโปร์แทน แตกต่างจากการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เพราะสามารถย้ายไปจัดในต่างจังหวัดได้ ธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในช่วงครึ่งปีหลัง 2557 เป็นไปอย่างจำกัด

   อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การจัดงานต่างๆที่ถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี ประกอบกับในช่วงไตรมาสที่ 4 เป็นฤดูกาลที่องค์กรภาคเอกชนต่างก็ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นยอดขายในช่วงโค้งสุดท้ายของปี จึงเป็นช่วงเวลาที่องค์กรภาคเอกชนเริ่มทยอยจัดสรรงบประมาณมาสู่การจัดงานในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น งานแสดงสินค้า งานอีเว้นท์ การจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น

ในส่วนของการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการขององค์กรภาครัฐที่ถูกยกเลิกหรือเลื่อนมาตั้งแต่ต้นปี น่าจะทยอยกลับมาจัดงานได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรภาครัฐภายในเดือนกันยายน ส่งผลให้ธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าสามารถสร้างรายได้จากการเป็นสถานที่จัดการประชุม สัมมนา รวมถึงนิทรรศการในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2557 นี้ ตลาดธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าจะมีมูลค่าอยู่ในกรอบ 7,320-7,520 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2556 ที่มีมูลค่าประมาณ 7,130 ล้านบาท หรือเติบโตอยู่ในกรอบร้อยละ 2.7 – 5.5 โดยมีปัจจัยหนุนจากการจัดงานภายในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 4 เป็นหลัก

ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าที่ต้องจับตามองในช่วงครึ่งปีหลังคือ การทยอยกลับมาจัดงานแสดงสินค้า โดยจะก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูงสำหรับธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในฐานะผู้ใสห้บริการสถานที่ และจะส่งผลให้ตลาดธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าเติบโตได้ถึงร้อยละ  5.5  ในทางกลับกันหากองค์กรภาคเอกชนยังขาดความเชื่อมั่น โดยมองว่าการเมือง และภาวะเศรษฐกิจยังไม่มีความแน่นอน อาจส่งผลให้ธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ในระดับสูงไป และจะส่งผลให้ตลาดธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าโดยรวมสามารถเติบโตได้เพียงร้อยละ 2.7 เท่านั้น

มองระยะยาว…ศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าไทยยังมีศักยภาพและเติบโตต่อเนื่อง

แม้ระยะสั้น ธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าจะได้รับผลกระทบในด้านลบจากเรื่องการเมือง และภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาวแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าเป็นธุรกิจที่ศักยภาพและยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยยังเป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการจัดงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดงานในกลุ่ม MICE ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมนานาชาติ และการจัดแสดงสินค้านานาชาติ

จากแนวโน้มการจัดงานในกลุ่ม MICE ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้ารายใหญ่ ได้มีการขยายพื้นที่รองรับการจัดงานในรูปแบบต่างๆ รวมถึงยังมีการขยายธุรกิจมาสู่การบริหารพื้นที่ศูนย์ประชุมในพื้นที่ต่างๆอีกด้วย นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและธุรกิจสนับสนุน เช่น การคมนาคมขนส่ง การสื่อสารและโทรคมนาคม โรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร เป็นต้น ก็มีการขยายตัวเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าด้วยเช่นกัน ในระยะยาวปัจจัยหนุนทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ ยังคงสามารถผลักดันให้ธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าสามารถขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในประเทศไทยก็อาจเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันระหว่างธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในต่างประเทศ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • การเปิด AEC เป็นปัจจัยหนุนสำหรับตลาดผู้จัดงานจากต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในประเทศไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนในฐานะผู้ให้บริการสถานที่สำหรับการจัดงานต่างๆ ในรูปแบบผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ (Business-to-business: B2B) ที่นำมาซึ่งความต้องการใช้บริการสถานที่สำหรับการจัดงานขององค์กรภาคเอกชนของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่หลากหลาย เช่น การประชุมและสัมมนา งานแสดงสินค้า งานอีเว้นท์ การจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น

  • การขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดของผู้ประกอบการ และการส่งเสริมให้หัวเมืองต่างจังหวัดเป็นเมืองแห่งไมซ์ เป็นปัจจัยหนุนสำหรับตลาดผู้จัดงานภายในประเทศ

การขยายตัวของความเป็นเมืองประกอบกับการเล็งเห็นถึงขนาดตลาดผู้บริโภคและศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างจังหวัดที่จะนำมาซึ่งกำลังซื้อของคนในพื้นที่ ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆจึงหันมามุ่งขยายธุรกิจจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการจัดงานในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นตามไปด้วย นำมาซึ่งความต้องการใช้บริการธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในต่างจังหวัด

  • การแข่งขันระหว่างธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในต่างประเทศ เป็นความท้าทาย

ธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในประเทศไทยก็อาจเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันระหว่างธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในต่างประเทศที่ต่างพยายามดึงดูดการจัดงานในรูปแบบต่างๆมายังประเทศตนเอง โดยหากพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียน ก็จะพบว่า ประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทย

นอกจากภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าแล้ว ยังรวมถึงความพร้อมในการจัดงานในหลากหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม จะส่งผลให้ผู้จัดงานเลือกประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้จัดงานเลือกใช้ประเทศดังกล่าวเป็นสถานที่จัดงานด้วยเช่นกัน

โอกาสในการเจาะตลาดของศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ของธุรกิจศูนย์ประชุม และศูนย์แสดงสินค้าในประเทศไทยในการเจาะกลุ่มผู้จัดงานเป้าหมาย ทั้งกลุ่มประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • เน้นเจาะตลาดผู้จัดงานจากประเทศกลุ่ม CLMV และจีน

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นปัจจัยส่งเสริมให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนขยายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเติบโตของการค้า และการลงทุนในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมีนนมาร์ และเวียดนาม หรือกลุ่ม CLMV ในรูปแบบผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ  (Business-to-business: B2B) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในประเทศไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในฐานะผู้ให้บริการสถานที่สำหรับการจัดงานที่มีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ สำหรับผู้จัดงานจากประเทศกลุ่ม CLMV โดยนอกจากการมีทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่มีความเหมาะสมต่อการจัดงาน  อีกหนึ่งปัจจัยหนุนสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้จัดงานจากประเทศกลุ่ม CLMV เลือกจัดงานในประเทศไทย ได้แก่ การมีทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคซึ่งสามารถเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน โดยนอกจากจะเชื่อมโยงในประเทศกลุ่ม CLMV แล้ว ยังเชื่อมโยงครอบคลุมไปถึงประเทศจีน ซึ่งพบว่าการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียนและจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นอย่างดี ดังนั้น ธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในประเทศไทยจึงควรใช้จุดแข็งจากการมีทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค เจาะกลุ่มผู้จัดงานจากประเทศกลุ่ม CLMV และจีน โดยชูจุดแข็งในด้านความสะดวกในการเดินทางสำหรับผู้เข้าร่วมงานและผู้จัดงาน รวมถึงความสะดวกในการขนส่งสินค้า ที่สามารถใช้ได้หลายช่องทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ในระยะทางที่ไม่ไกลอีกด้วย

  • เน้นเจาะตลาดผู้จัดงานในธุรกิจที่ไทยมีขีดความสามารถในการเป็นฐานผลิตและให้บริการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในประเทศไทยอาจเลือกเจาะกลุ่มผู้จัดงานให้มีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการเป็นฐานการผลิตที่จะเพิ่มโอกาสให้ผู้จัดงานเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานได้ เช่น เครื่องมือ เครื่องจักร ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในประเทศไทยอาจเลือกเจาะกลุ่มผู้จัดงานในธุรกิจบริการที่ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการให้บริการ เช่น โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดให้ธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในประเทศไทยมีโอกาสสร้างรายได้จากตลาดผู้จัดงานในธุรกิจขนาดใหม่มากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในประเทศไทย ยังต้องจับตาแนวโน้มที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจจัดงานต่างๆของผู้จัดงาน ทั้งภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้จัดงานและการเติบโตของอุตสาหกรรมในภาพรวม ซึ่งจะเป็นปัจจัยกำหนดการจัดสรรงบประมาณขององค์กรสำหรับการจัดงานต่าง ๆ เป็นหลัก เพื่อนำมาสู่การปรับกลยุทธ์การให้บริการสถานที่ได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการและข้อจำกัดของผู้จัดงาน รวมไปยังต้องจับตาแนวโน้มการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีบทบาทในการตัดสินใจเลือกสถานที่จัดงานสำหรับผู้จัดงานกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับในระยะยาวนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าในประเทศไทยอาจเพิ่มสัดส่วนการเจาะกลุ่มผู้จัดงานในธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น บริการด้านแพทย์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น ที่นอกจากจะเป็นการขยายโอกาสในการสร้างรายได้จากตลาดผู้จัดงานในธุรกิจใหม่ๆมากขึ้นแล้ว ยังนำรายได้สะพัดสู่ภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกด้วย