“แขวงบ่อแก้ว” เขตการค้าเชื่อมไทย-ลาว-คุนหมิง


ความเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ จ.เชียงราย เกิดจากการลงทุนการค้าและการท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของ จ.เชียงราย ให้ขยายตัวก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย

 

ประเทศลาวไม่มีทางออกทางทะเล จึงมีข้อตกลงขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างไทย-ลาว เพื่อการนำเข้าส่งออก สามารถเดินทางผ่านประเทศไทยและตามนโยบายจะให้ไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาค จึงต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศลาว ให้ประเทศไทยผ่านดินแดนลาวในฐานะเป็น LAND BRIDGE เชื่อมโยงกับเวียดนามและจีนตอนใต้ โดยมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมไทย-ลาว ดังกล่าว ภายใต้กรอบ “GMS” เพื่อเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่ง

 

หลังจากที่ได้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อเชื่อมไปยังเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ยังได้มีการก่อสร้างถนนหมายเลข “R3E” ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ของภูมิภาคอินโดจีน หนึ่งในเส้นทางโลจิสติกส์ที่สำคัญ โดยถนนเส้นนี้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ เส้นทางช่วงแรก เริ่มจากห้วยทรายจนถึงบ้านสอดของประเทศลาว เส้นทางช่วงที่สอง เริ่มจากบ้านสอดจนถึงเมืองน้ำลังของประเทศลาว และเส้นทางสุดท้าย เริ่มที่เมืองน้ำลังผ่านหลวงน้ำทา ผ่านบ้านนาเตย จนถึงเมืองบ่อเต็น ซึ่งเป็นพื้นที่ติดเขตชายแดนจีน

 

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 นี้ จะช่วยผลักดันให้ จ.เชียงราย เป็นเมืองสำคัญและมีบทบาททางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบนของไทยมากขึ้น เพราะ จ.เชียงราย เป็นเมืองชายแดนที่สามารถขนส่งสินค้าและเดินทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น ไม่ต้องขนถ่ายสินค้าที่เกิดจากการขนส่งในแม่น้ำโขง และช่วยแก้ปัญหาการขนส่งทางน้ำตามแม่น้ำโขง

 

ส่วนแขวงบ่อแก้ว คือเป้าหมายของเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นแขวงที่มีขนาดเล็กที่สุดของประเทศลาว มีพรมแดนติดกับประเทศไทย และพม่า ห่างจากชายแดนจีน 100 กิโลเมตร เดิมบริเวณนี้เรียกว่า “หัวโขง” เพราะตั้งอยู่ต้นแม่น้ำโขง ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “บ่อแก้ว”โดยมี “ห้วยทราย” เป็นเมืองหลวงและยังเป็นเมืองท่าการค้าที่ใหญ่ที่สุดริมแม่น้ำโขง เมื่อครั้งสมัยฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาว

 

เมื่อสมัยก่อนเมืองห้วยทราย มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่ทำการแขวง และได้สร้างค่ายทหารไว้บนเนิน เรียกว่า “ป้อมการ์โน” ซึ่งทหารไทยเคยเข้าไปยึดเมื่อสมัยที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่นี่เป็นชาวลาว ชาวไทลื้อ ส่วนชาวบ้านริมแม่น้ำโขง จะเป็นชาวไทเขินและมีชนเผ่าที่อาศัยอยู่ตามภูเขาอีกมากมาย

 

อย่างไรก็ตาม จ.เชียงราย ก็ยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งการค้า การลงทุน การผลิต อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกษตรกรรมและธุรกิจบริการ จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาด กระจายสินค้าไปยัง สปป.ลาว และจีนตอนใต้ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูปจากทั้งสองประเทศดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย หรือส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ได้สะดวกและรวดเร็วเช่นกัน

 

ที่ผ่านมาในปี 2555 การลงทุนภาคเอกชนได้มีการขยายตัวถึงร้อยละ 17-18 ซึ่งเป็นการลงทุนทั้งในด้าน ภาคการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคบริการในธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท โรงพยาบาล และภาคโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าและการท่องเที่ยวในอนาคต ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อ.เชียงของ ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนของนักลงทุนชาวต่างชาติ เช่น จีน เวียดนาม รวมทั้งไทย