กฎหมายผู้ค้ำประกัน SMEs เสี่ยงกู้เงินยาก


สนช. มีมติเป็นเอกฉันท์ รับหลักกฎหมายผู้ค้ำประกัน  โดยไม่ต้องรับผิดชอบใช้หนี้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้น หรือหากต้องจ่ายหนี้ทดแทนจะไม่มีการเก็บดอกเบี้ย ทั้งนี้การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวกลับมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อและผู้ประกอบการที่ต้องการขอสินเชื่อในอนาคต

สืบเนื่องจาก ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ รับหลักการกฎหมายคุ้มครองคนค้ำประกัน จากประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยว่าผู้ประกอบการ SMEs จะกู้สินเชื่อยากขึ้นหรือไม่ เมื่อเกิดการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกัน

โดยแต่เดิมทีหากเกิดการกู้ยืมแล้ว ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา ผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดเฉกเช่นเดียวกับลูกหนี้ทุกอย่าง โดยเจ้าหนี้สามารถเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ในทันที และไม่มีการกำหนดขั้นและบทบัญญัติบังคับการจำนองชัดเจน ส่งผลให้ผู้ค้ำประกันต้องแบกรับภาระการชำระหนี้แต่เพียงผู้เดียว ดังสุภาษิตไทยที่ว่า เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวงคอ แต่สำหรับการแก้ไขกฎหมายใหม่นั้น ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดเหมือนลูกหนี้ และหากผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบหนี้แทนลูกหนี้ชั้นต้น เจ้าหนี้ไม่สามารถเก็บเงินในส่วนของดอกเบี้ยได้ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558

โดยการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีการคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ประกอบการได้ไม่ครอบคลุมนัก และปรากฏว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ มักอาศัยอํานาจต่อรองที่สูงกว่าหรือความได้เปรียบในทางการเงินกําหนดข้อตกลง ให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จํานองต้องรับผิดเสมือนเป็นลูกหนี้ชั้นต้น จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้ผู้ค้ำประกัน และผู้จำนอง ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองตามความต้องการของกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันที่ต้องถูกฟ้องล้มละลายอีกจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ค้ำประกันและผู้จํานอง จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวอาจเกิดผลดีต่อผู้ค้ำประกัน แต่อีกด้านหนึ่ง คือมุมมองของธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อ  จะเกิดปัจจัยเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และอาจทำให้มีเงื่อนไขในการขอสินเชื่อที่ยากมากกว่าเดิม แน่นอนว่าผลกระทบดังกล่าวย่อมส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในรายที่เริ่มต้นทำกิจการ และในรายที่ต้องการขยายกิจการ เนื่องจากเงินทุนคือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่ง SMEs ส่วนใหญ่ยังไม่มีหลักประกันในการขอสินเชื่อมากเพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้ผู้ค้ำประกัน ซึ่งหากบทบาทของผู้ค้ำประกันลดลง อาจทำให้วงเงินในการกู้น้อยลง หรือเพิ่มความยากมากยิ่งขึ้นในการขอสินเชื่อ 

อย่างไรก็ดี การแก้ไขกฎหมายผู้ค้ำประกันยังคงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไป ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อส่วนต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องมีการหารือกันครั้งครั้งสำหรับปัญหานี้