สมาคมของขวัญไทยสร้างสินค้าเทรนด์สีเขียว เรียกมูลค่าตลาดคืน


เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเจอภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้ตลาดของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้านในประเทศ ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี สมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการในประเทศที่ดำเนินธุรกิจของขวัญฯ มานานกว่า 15 ปี ไม่อาจอยู่เฉยได้ และต้องหาทางกู้ตลาดกลับคืนมา

 

ที่ผ่านมา สมาคมของขวัญฯ ดังกล่าวนับเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ โดยขณะนี้สมาคมพร้อมแล้วสำหรับการขับเคลื่อน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่เวทีระดับโลก

 

สมาคมของขวัญฯ ภายใต้การนำของ ศิริชัย เลิศศิริมิตร นายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกที่จะเกิดขึ้น

 

“จากผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง บรรยากาศการซื้อของขวัญในช่วงปลายปีนี้เงียบเหงามาก มียอดการสั่งซื้อสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30-40% ส่งผลให้ภาพรวมตลาดของขวัญฯ ภายในประเทศ ลดลงจากปีก่อน 20-30% หรือติดลบเป็น 2 เท่าจากอัตราการเติบโตในภาวะเศรษฐกิจปกติที่ 15%” นายกสมาคมของขวัญฯ กล่าว

 

นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้ตลาดของขวัญฯ ในประเทศซบเซา ยังมาจากผลพวงของธุรกิจออนไลน์และการเข้ามาของคู่แข่งจากประเทศจีน ที่เข้ามาแทรกตลาดด้วยการจำหน่ายสินค้าที่มีราคาถูกกว่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ประกอบการหลายรายติดต่อขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับสมาคมของขวัญฯ เพื่อหวังให้เป็นที่พึ่งในยามที่มีปัญหารุมเร้ารอบด้าน

 

ปัจจุบันสมาคมของขวัญฯ มีสมาชิกประมาณ 500 ราย ประกอบด้วยธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ เซรามิก เครื่องปั้นดินเผา แก้ว เทียน ผ้า หนัง โลหะ กระดาษ Poly Resin ไม้ พลาสติกและของพรีเมียม โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกสมาคมของขวัญฯ ได้ง่ายๆ เพียงระบุประเภทที่ต้องการสมัครและชำระค่าสมัครรายปี โดยมี 2 ประเภทให้เลือก คือ ประเภทสามัญ 3,317 บาท และประเภทสมทบ 2,247 บาท

 

สมาชิกของสมาคมของขวัญฯ จะได้รับข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ ข่าวการสัมมนา การอบรมต่างๆ ของภาครัฐ และสถาบันการเงิน ภาวการณ์ตลาดต่างประเทศและรายชื่อผู้นำเข้า แนวโน้มการออกแบบ Design Trend ของ 3 ประเทศสําคัญ คือ USA, Europe และ Japan ข้อมูลงานแสดงสินค้า โครงการกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งในและต่างประเทศที่สนับสนุนโดยหน่วยงานภาครัฐ โครงการต่างๆ ที่สถาบันการเงิน ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ ตลอดจนกิจกรรมพิเศษต่างๆ ที่จัดขึ้น อาทิ Business Matching, Catalogue/Brochure, Hong Kong, Gifts & Premiums และ BIG+BIH

 

สมาคมของขวัญฯ นับเป็นพี่เลี้ยงชั้นดีให้แก่ผู้ประกอบการ โดยจะคอยส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือสมาชิกในการแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ และเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกัน สมาคมจะติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ อีกทั้งยังผลักดันสินค้าที่ผลิตหรือจำหน่ายให้มีมาตรฐานและคุณภาพ ตลอดจนเป็นตัวแทนในการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐบาลและสถาบันการเงินอีกด้วย

 

ศิริชัย เล่าถึงกิจกรรมของสมาคมของขวัญฯ ว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมของขวัญฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ SME โปรเจกต์ ที่นำคณะสมาชิกไป ประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง เยอรมัน เพื่อโอกาสในการทำการตลาดเชิงรุกให้ผู้ประกอบการได้พบกับผู้ซื้อโดยตรง ส่วนกิจกรรมในประเทศ ได้จัดงานแสดงสินค้าของขวัญ และงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน (BIG+BIH) นอกจากนี้ยังได้เข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ของตลาด ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ ภารกิจหลัก ที่เราได้ทำต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ

 

“แน่นอนครับ สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การพัฒนาผู้ประกอบการ พร้อมให้การช่วยเหลือในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การผลิต การลดต้นทุน พร้อมนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก พร้อมขยายกำลังในธุรกิจเทรนด์โลกสีเขียวให้เข้าตลาดมากขึ้น ทั้ง Food และ Non-Food ซึ่งผมเชื่อว่าในปีนี้ บรรยากาศในการซื้อของขวัญจะกลับมาคึกคักและเพิ่มขึ้น อย่างแน่นอน”

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้แนวโน้มของธุรกิจจะดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการไทยก็ยังคงเจอปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น เรื่อง “การออกแบบ” ที่สามารถลอกเลียนได้ง่าย ถัดมาคือ เรื่อง “ความเข้าใจในการเพิ่มมูลค่า” ที่ผู้ประกอบการยังติดยึดอยู่กับการพัฒนาสินค้าแบบเชิงเดี่ยว และสุดท้ายคือ “ความพร้อมในการส่งออก” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจอย่างมาก เพราะเป็นการนำเงินตราเข้าประเทศ

 

“ผมมองว่าผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวได้เร็ว ซึ่งการปรับตัวนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจว่าเป็นอย่างไร บางครั้งไม่ใช่เป็นเหตุมาจากเรา แต่เป็นเหตุจากสิ่งแวดล้อม ตลาดโลกและตลาดในประเทศ ซึ่งเป็นเหตุที่เราไม่สามารถควบคุมได้ หรือแม้แต่เรื่องของการเมืองก็เช่นกัน ฉะนั้นผู้ประกอบการควรพึงระวังไว้ว่า ทุกย่างก้าว ทุกเวลาที่ทำธุรกิจ จะต้องไต่เต้าไปทีละขั้น ที่สำคัญไม่ควรคิดในแง่บวกเสมอ ต้องหัดคิดแง่ลบไว้บ้าง ยิ่งเรื่องตลาดออนไลน์และสินค้าที่ทะลักเข้ามาจากจีน ซึ่งเป็นตัวแปรที่เราไม่สามารถควบคุมได้ นอกเสียจากเอาคุณภาพและการบริการเข้ามาเป็นกำแพงกั้นไม่ให้ธุรกิจเราล้มเท่านั้นเอง” นายกสมาคมของขวัญฯ ให้ข้อคิดทิ้งท้าย

 

สำหรับปี 2558 นี้ คาดการณ์ว่า ตลาดส่งออกของขวัญ ของชำร่วยจะขยายตัวได้ที่ 5% เพราะมีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่ให้ความนิยมสินค้าไทยเพิ่มขึ้นนั่นเอง