ในปี 2558 จีนคาดกาณณ์อัตราการเติบโตร้อยละ 7.0 ซึ่งต่ำกว่าในปี 2557 ที่ 7.4 สะท้อนความกังวลต่อปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สะสมต่อเนื่อง และหยั่งรากลึกมากขึ้น ศุนย์วิจัยกสิกรคาด เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 6.9 และเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปีของจีน
ปี 2557 ที่ผ่านมานับเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจจีนเติบโตน้อยลง จากที่เคยเติบโตมากกว่าร้อยละ 10 มาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยขยายตัวร้อยละ 7.4 น้อยกว่าเป้าหมายของทางการเล็กน้อย แต่ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 24 ปีของจีน ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การประชุมสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน (CPPCC) และการประชุมคณะกรรมาธิการถาวรของสภาประชาชนแห่งชาติของจีน (NPC) เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นที่จับตามองของตลาดอย่างมากว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2558 ถึงเรื่องทิศทางต่อไป
ทั้งนี้จากการประชุมสองสภาของจีน ทางการจีนย้ำว่าปี 2558 นับเป็นปีที่สำคัญอีกปีหนึ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมเชิงลึกและรอบด้าน รวมถึงเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) ของจีน ซึ่งการบรรลุตามแผนฯดังกล่าว ทางการได้กำหนดเป้าหมายสำหรับปี 2558 ไว้ ได้แก่
1) เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 7.0
2) อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.0
3) การสร้างงานใหม่มากกว่า 10 ล้านตำแหน่ง และรักษาอัตราการว่างงานในเขตเมืองให้อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 4.5
4) มูลค่าการค้าต่างประเทศรวมเติบโตร้อยละ 6
ปัจจุบันรัฐบาลจีนเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยเน้นไปที่เป้าหมายดัชนีอื่น ๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างอัตราเงินเฟ้อ และการสร้างตำแหน่งงานใหม่มากขึ้น นอกเหนือจากการเติบโตของจีดีพีเพียงอย่างเดียว ซึ่งเห็นได้จากในปี 2557 ที่แม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอาจไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน และการสร้างงานใหม่ในเขตเมืองกลับดีกว่าที่ทางการคาดการณ์
นับตั้งแต่ต้นปี 2558 เศรษฐกิจจีนยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการผลิตซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของทางการในเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่อยู่ในระดับ 49.8 และ 49.9 ตามลำดับ ซึ่งตัวเลข PMI ที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนถึงการหดตัวในภาคการผลิต อันเป็นผลจากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ซบเซา สอดคล้องกับตัวเลขการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวอ่อนแรงกว่าที่คาด โดยยอดค้าปลีกในเดือนม.ค.-ก.พ. ชะลอตัวลงต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี ขยายตัวที่ร้อยละ 10.8 ขณะที่ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรก็เติบโตเพียงร้อยละ 13.9 ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 นอกจากนี้จีนยังกำลังเผชิญกับความเสี่ยงว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนก.พ.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ฟื้นตัวจากระดับร้อยละ 0.8 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี เพราะได้แรงหนุนจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นขาลงยังเป็นปัจจัยกดดันดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2558 จะขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมายของทางการเล็กน้อยที่ร้อยละ 6.9 ซึ่งจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2558 กลายเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปีของจีน อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า ตลาดยังต้องจับตาประเด็นต่างๆที่อาจเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน อาทิ การจัดการหนี้รัฐบาลท้องถิ่น เสถียรภาพในระบบบการเงิน ความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังซบเซา
ด้านการเร่งพัฒนาแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมใหม่ (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (the 21 Maritime Silk Road) ตามแนวคิด “One Belt and One Road” ที่ผลักดันโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขณะเดินทางเยือนประเทศในเอเชียกลางและอาเซียนในปี 2556 นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและประเทศที่รายรอบจีนในภูมิภาคเอเชีย โดยจีนได้จัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหมเป็นจำนวนเงินราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา “One Belt and One Road” ผ่านการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมและการค้าในเอเชีย ซึ่งสอดรับกับการที่จีนได้ประกาศยกระดับความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน และอาเซียน (China – ASEAN FTA) ในการประชุมสภาครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ จีนยังมีแผนเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในประเทศตามยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” จากในปัจจุบันที่การผลิตส่วนใหญ่ของจีนเป็นรูปแบบของการใช้เครื่องจักรผสมกับแรงงานจำนวนมหาศาล ให้กลายเป็นการผลิตสินค้าที่ใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นหลัก เนื่องมาจากค่าแรงในจีนที่มีแนวโน้มไต่ระดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นก็จำเป็นที่จะต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเกิดใหม่อื่นๆที่มีค่าแรงต่ำกว่าจีนเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น ปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) จึงเป็นปีเป้าหมายของจีนที่จะเปลี่ยนโฉมสินค้าที่ผลิตในจีน หรือ Made in China ในสายตาของคนทั่วโลกจากสินค้าคุณภาพต่ำเป็นสินค้าที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง และเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ในอนาคต เป็นไปได้ว่าหากจีนสามารถก้าวผ่านปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ ประกอบกับการใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อการพัฒนาไปพร้อมๆกัน ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยประคองโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว ภายใต้ภูมิทัศน์การค้าการลงทุนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว