ส่งออกกุมภา’58 ติดลบ ลุ้นการฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี


       ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนก.พ. 2558 หดตัวลงตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด โดยมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ฯ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ที่ร้อยละ 6.14

       เป็นไปตามการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เมื่อตัวเลขมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ฯของไทยเดือนก.พ. 2558 หดตัวลงติดต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน มาอยู่ที่ร้อยละ 6.14  และหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรากฎว่าแย่ลงกว่าที่ติดลบร้อยละ 3.46 ในเดือนม.ค. 2558  

       สินค้าส่งออกรายการสำคัญของไทยยังคงเผชิญแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง จากภาวะการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าส่งออกที่ลดต่ำลง ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้า 5 รายการ ประกอบด้วย น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกรวม อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีราคาส่งออกที่อ่อนไหวตามทิศทางตลาดโลก หดตัวลงถึงร้อยละ 35.2 ในเดือน ก.พ. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 24.0 ในเดือน ม.ค. ส่วนตลาดส่งออกสำคัญของไทย ยกเว้นสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ล้วนหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดจีน มีการหดตัวถึงร้อยละ 15.1 สหภาพยุโรป 5.6 ญี่ปุ่น 11.7 และอาเซียนเดิม 5 ประเทศ 16.4

        โดยนักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์ คาดว่า การส่งออกในเดือน ก.พ. 58 และจะหดตัวลงร้อยละ 3.2 ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะหดตัวร้อยละ 6.6 ซึ่งค่าเฉลี่ยของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในเดือนก.พ. 2558 ก็เพิ่มแรงกดดันให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทในเดือนก.พ. หดตัวอีกที่ร้อยละ 6.78  เมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 2.34 ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จากการที่ตัวเลขการส่งออกในเดือนก.พ. 2558 หดตัวลงใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินว่า มูลค่าการส่งออกของไทยน่าจะยังคงหดตัวลง อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก่อนจะเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายๆ ไตรมาส 2/2558

        –  ภาคการส่งออกอาจฟื้นตัวไม่ทันภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ท่ามกลางผลกระทบจากสัญญาณที่อ่อนแอในภาคการผลิตของหลาย ๆ ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย และผลเชิงลบจากการที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่ต่ำกว่าระดับในช่วงเดียวกันปีก่อนค่อนข้างมาก คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอาจหดตัวลงร้อยละ 3.9 ในไตรมาส 1/2558 และอาจบันทึกค่าติดลบต่อเนื่องจนถึงช่วงปลาย ๆ ไตรมาส 2/2558 ซึ่งย่อมเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีความเสี่ยงที่จะหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 2.0

         –  แนวโน้มการส่งออกของไทยอาจเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ท่ามกลางสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่น่าจะเริ่มมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น หากทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่มีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ก็อาจช่วยลดทอนแรงฉุดมีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมัน รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหรือราคาน้ำมัน อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ก็มีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน

       อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง อาจจะยังคงอยู่ในกรอบที่จำกัด เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยจะยังคงต้องรับมือกับหลายโจทย์ที่ต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งสถานการณ์การแข่งขันทางด้านราคาและปริมาณผลผลิตจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรรายการสำคัญ ตลอดจนข้อจำกัดทางเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าที่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการ/เทรนด์ในตลาดโลก ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังในการประเมินภาพรวมของสถานการณ์การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี และคาดการณ์ว่า การส่งออกในปี 2558 จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 โดยมีกรอบคาดการณ์ในช่วงติดลบร้อยละ 1.0 ถึง ขยายตัวร้อยละ 2.0

        ดังนั้นความหวังต่อการกลับมาขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายการส่งออกที่ร้อยละ 4 ในปีนี้จะเพิ่มมากขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดันให้มูลค่าการส่งออกรายเดือนเพิ่มขึ้น จากที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2558 กลับไปอยู่ใกล้ ๆ ระดับ 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน หรือต้องมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนที่ร้อยละ 6.0 ในช่วง 10 เดือนที่เหลือของปี 2558