สวนยางยังเครียด ผลผลิตยางแผ่น และยางแท่ง หดตัว


       ผลผลิตยางแผ่นและยางแท่งในเดือน ม.ค. 58 มีปริมาณ 66.0 พันตัน ซึ่งหดตัว 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ขยายตัว 14.3% ต่อเดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตยางแผ่นและยางแท่ง เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 64.9% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อน

        อุตสาหกรรมยางพาราเป็นอุตสาหกรรมขั้นต้นก่อนนำไปแปรรูปในลักษณะต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้งานได้สะดวก โดยการผลิตยางพาราจะแปรรูปเป็นลักษณะต่าง ๆ อาทิ ยางแผ่นรมควันยางแท่ง ยางเครป ยางผึ่งแห้ง และน้ำยางข้น ยางพาราเหล่านี้จะนำไปใช้ในการผลิต เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอื่น ๆ เช่น ยางยานพาหนะ  ถุงมือยาง  ถุงยางอนามัย ยางรัดของ  และท่อยางต่างๆ  เป็นต้น

        ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงเทพ พบว่า ในเดือนม.ค. 58 ผลผลิตยางแผ่นและยางแท่ง คิดเป็น 86.4% และ 32.9% ของผลผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางอื่น และผลผลิตหมวดผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก ตามลำดับ ดัชนีผลผลิตยางแผ่นและยางแท่ง เดือน ม.ค. 58 หดตัว 5.2% ต่อปี ซึ่งหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แต่ขยายตัว 14.6% ต่อเดือน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปี 48-57 อยู่ 13.9% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 55 อยู่เพียง 0.5% CAGR ส่วนด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตยางแผ่นและยางแท่ง เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 64.9% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 64.0% และ 56.0% ในช่วงเดียวกันของปี ก่อน และเดือนก่อน ตามลำดับ อีกทั้งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปี 48-57 ที่ 62.2% ด้วย

        ในขณะที่ข้อมูลจากสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร บอกว่า ราคายางตลาดกลางยางพาราสงขลา ยางแผ่นดิบแตะระดับ 49.25 บาท/กก. ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ราคายางแผ่นรมควันปรับตัวลดลง 0.20 บาท/กก. แตะระดับ 50.81 บาท/กก. โดยมีปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และเงินเยนแข็งค่า ประกอบกับนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะซบเซาในตลาดแรงงานและภาวะเงินฝืด ของยูโรโซน รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่เร็วขึ้น ขณะที่อุปสงค์ยางจากจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อยางรายใหญ่ที่สุดของโลกยังคงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตามราคายางยังมีปัจจัยบวกจากอุปทานยางที่ออกสู่ตลาดน้อยตามฤดูกาล ซึ่งจะช่วยชาวสวนยาง และผู้ประกอบการยังคงหายใจหายคอได้โล่งมากขึ้น