เศรษฐกิจไทยเติบโตน้อย แม้มีปัจจัยหนุนหลายด้าน


          เศรษฐกิจไทยปี 2015 เติบโต 3.0% โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีอยู่ในภาวะชะลอตัว แม้จะมีการท่องเที่ยวช่วยหนุน โดยราคาน้ำมันที่ลดลงไม่ได้ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมากนัก อีกทั้งครัวเรือนในภาคเกษตรจำนวนมากยังได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

           อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2015 เติบโต 3.0% เศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2015 อยู่ในภาวะชะลอตัว แม้ว่าจะมีภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นจะเป็นปัจจัยหนุน โดยราคาน้ำมันที่ลดลงกลับไม่ได้ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมากนัก อีกทั้งครัวเรือนในภาคเกษตรจำนวนมากยังได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีปัจจัยที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ได้แก่

–    ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านภาษี

–    ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนของรัฐที่ทำได้เพียง 27.8% ในครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ

          ด้วยปัจจัยดังกล่าว อีไอซีจึงได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ลงเหลือ 1.4% และ 2.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ การลดลงของมูลค่าสินค้าส่งออกสำหรับสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมันดิบอย่างน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ในช่วงที่ผ่านมาทำให้อีไอซีได้ปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยว่าจะหดตัว 1.3% สำหรับในระยะต่อไปปัจจัยภายนอกที่น่าจับตามองคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นราวไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 8 ปี อีไอซีประเมินว่าจะส่งผลให้เงินดอลล่าร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินทั่วโลก และประเมินว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปลายปีนี้ ด้านนโยบายการเงินของไทย อีไอซีคาดว่ามีโอกาสสูงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอยู่ที่ 1.25% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะสูงมากในปีนี้