อัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีค่าติดลบตลอด 5 เดือนแรกของปี 2558 จากผลของราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่นับรวมผลของราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงาน ก็มีทิศทางที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า ระดับอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำเป็นสัญญาณที่สอดคล้องกับการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของผู้บริโภค ซึ่งย่อมเป็นตัวสะท้อนว่า แม้ไทยอาจจะยังไม่เผชิญกับภาวะเงินฝืด แต่ทิศทางการบริโภคของภาคครัวเรือน ก็ยังน่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างซบเซาต่อเนื่อง ตราบใดที่รายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคการเกษตรยังไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติ
อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนพ.ค. 2558 ติดลบเป็นเดือนที่ 5 ตามที่คาด โดยดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงร้อยละ 1.27 (YoY) ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี หลังจากที่ติดลบร้อยละ 1.04 (YoY) ในเดือนเม.ย. 2558 โดยสาเหตุที่เงินเฟ้อติดลบเป็นผลมาจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ และค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 17.4 (YoY) และร้อยละ 4.9 (YoY) ตามลำดับ โดยในส่วนของค่ากระแสไฟฟ้านั้น ปรับลดลงตามค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ที่ลดลง 9.35 สตางค์/หน่วย มาจัดเก็บที่ 49.61 สตางค์/หน่วยในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2558
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมากกว่าที่คาดมาที่ ร้อยละ 0.94 (YoY) ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (ไม่นับรวมสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงาน) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เพียงร้อยละ 0.05 (MoM) ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นสำหรับเดือนพ.ค. ที่ค่อนข้างน้อย หากเปรียบเทียบกับเดือนพ.ค. ในช่วงปีอื่นๆ ที่มักจะขยับขึ้นประมาณร้อยละ 0.1-0.2 (MoM)
การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานดังกล่าว เป็นทิศทางการฟื้นตัวของเครื่องชี้การใช้จ่ายภายในประเทศยังไม่สม่ำเสมอ และยังคงค่อนข้างเปราะบางขาดแรงกระตุ้น แม้ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าในภาพรวมจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อนั้น จากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจจะยังอยู่ช่วงขาขึ้นที่ค่อนข้างจำกัดในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเสี่ยงมากขึ้นที่ภาวะเงินเฟ้อติดลบของไทยจะลากยาวเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3/2558 เพราะคาดว่า สถานการณ์ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ยังน่าจะมีค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่ล่าช้าของกำลังซื้อในประเทศ ก็จะยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ยังคงทำได้ค่อนข้างจำกัดด้วยเช่นกัน
สัญญาณเงินเฟ้อและเครื่องชี้ภาวะการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนอาจจะค่อนข้างอ่อนแออย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 อาจมีค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์สำหรับกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 0.5 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเคลื่อนลงเข้าใกล้กรอบล่างของช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.0-1.0
สำหรับประเด็นเชิงนโยบายนั้น แม้อัตราเงินเฟ้อติดลบที่อาจลากยาวเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3/2558 จะเปิดพื้นที่มากขึ้นสำหรับจุดยืนเชิงผ่อนคลายของนโยบายการเงิน แต่คาดว่า การชั่งน้ำหนักตัวแปรในด้านต่างๆ ของคณะกรรมการนโยบายการเงินในช่วงเวลานับจากนี้ จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะมีตัวแปรทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ต้องพิจารณาแล้ว ก็อาจต้องคำนึงถึงกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศควบคู่ไปด้วยในเวลาเดียวกัน