ETDA เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต 2018 ของคนไทย ใช้เน็ตเพิ่มกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน พบหลายกิจกรรมสุ่มเสี่ยงในการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
ผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า คนไทยใช้ Internet เฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที เพิ่มขึ้นจากปี 2560 เป็น 3 ชั่วโมง 30 นาที โดยใช้ซื้อของออนไลน์ติด 1 ใน 5 ของกิจกรรมยอดฮิต 2 ปีติดต่อกัน และมีความกังวลกันว่าข้อมูลส่วนบุคคลถูกละเมิดมากขึ้น
พร้อมกันนี้คนไทยยังนิยมใช้โซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip สูงมากถึง 3 ชม. 30 นาทีต่อวัน ขณะที่การรับชมวีดีโอสตรีมมิ่ง เช่น YouTube หรือ Line TV มีชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม. 35 นาทีต่อวัน ส่วนการใช้แอปพลิเคชันเพื่อพูดคุย เช่น Messenger และ LINE เฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม. ต่อวัน การเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม. 51 นาทีต่อวัน และการอ่านบทความหรือหนังสือทางออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม. 31 นาทีต่อวัน
เมื่อดูการเปลี่ยนผ่านการใช้ชีวิตประจำวันไปสู่ชีวิตดิจิทัล จะเห็นได้ว่า 5 อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทำกิจกรรมทางออนไลน์มากกว่าแบบดั้งเดิม ได้แก่ การส่งข้อความ 94.5% การจองโรงแรม 89.2% การจอง/ซื้อตั๋วโดยสาร 87.0% การชำระค่าสินค้าและบริการ 82.8% และการดูหนัง/ฟังเพลง 78.5% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่ามีหลากหลายกิจกรรมที่คนไทยยังมีความสุ่มเสี่ยงในการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล จากพฤติกรรมดังนี้
1. ไม่เปลี่ยนรหัสผ่านทุกๆ 3 เดือน 45.34%
2. การให้วันเดือนปีเกิดที่แท้จริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 45.04%
3. เมื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคารก็ละเลยที่จะสังเกตว่าเป็นเว็บไซต์ที่ขึ้นต้นด้วย https:// หรือไม่ 44.48%
4. เปิดอีเมล/คลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก 43.36% และ
5. อัปโหลดรูปถ่าย/วิดีโอทันทีหลังถ่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 35.70%
พฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงมากที่สุด เมื่อแบ่งเป็นเจเนอเรชั่นประกอบไปด้วย
Gen Y
• กรอกวัน/เดือน/ปีเกิดที่แท้จริง โดยตั้งค่าเป็น public
• ไม่เปลี่ยนรหัสผ่านทุก 3 เดือน
• เปิดอีเมลหรือคลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก
Gen Z
มีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องของการให้วันเดือนปีเกิดที่แท้จริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 55.97% การไม่เปลี่ยนรหัสผ่านทุกๆ 3 เดือน 53.73% หรือเปิดอีเมล/คลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก 51.49% รวมทั้งเมื่อใช้งานคอมพิวเตอร์สาธารณะ/อุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้อื่นมักตั้งค่าให้อุปกรณ์ดังกล่าวจดจำรหัสผ่าน เพื่อจะได้ไม่ต้องพิมพ์ใหม่ทุกครั้ง 28.36% และคลิกลิงก์ของธนาคารที่ได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์ของธนาคารโดยตรง 16.42%
Baby Boomer
• ทำ e-Payment หรือ Internet Banking โดยไม่ค่อยสังเกตเครื่องหมายที่บอกว่าปลอดภัย เช่น ไม่สนใจว่ามี https://หรือไม่
• เมื่อเลิกใช้งานคอมพิวเตอร์/โทรศัพท์มือถือของคนอื่นแล้ว ไม่ลบประวัติการใช้งานหรือรหัสผ่านออกจากเครื่อง
• ไม่ตั้งค่าล็อกหน้าจออัตโนมัติ
สำหรับกลุ่ม Baby Boomer เป็นกลุ่มที่น่ากังวลมากที่สุด เช่น เมื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคารก็จะละเลยที่จะสังเกตว่าเป็นเว็บไซต์ที่ขึ้นต้นด้วย https:// หรือไม่ 55.94% และเมื่อสิ้นสุดการใช้งานคอมพิวเตอร์สาธารณะ/อุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้อื่นก็ไม่ลบประวัติการใช้งาน 46.96% หรือไม่ลงชื่อออกจากการใช้งานจากเครื่องดังกล่าว 26.14% รวมถึงการที่ไม่ได้ล็อกหน้าจออัตโนมัติ 29.71%