ส่อง! สินค้าเกษตรส่งออกไทยตัวไหนรุ่ง-ร่วง ในเดือนสิงหาคม 2562


ปัญหาสงครามการค้าที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ระหว่างสหรัฐฯ – จีน ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2562 ที่กลับมาหดตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนสิงหาคม 2562 มีมูลค่า 21.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จากปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงผลกระทบของสงครามการค้าในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาหดตัวอย่างรุนแรง ประกอบกับการส่งออกสินค้าเกษตรชะลอตัวจากอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก และค่าเงินบาทที่แข็งค่า

โดยในบทความนี้ Smartsme จะพามาดูกันว่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรส่งออกชนิดไหนบ้างที่ขยายตัว-หดตัวในเดือนสิงหาคม 2562 นี้

สินค้าเกษตรที่ขยายตัว

ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 26.8

-ขยายตัวในตลาดจีน เนื่องจากจีนให้การยอมรับ GAP และ GMP ของเกษตรกรไทยที่รับการตรวจรับรองคุณภาพและมาตรฐาน ทำให้ตลาดยอมรับในคุณภาพ และมาตรฐานในราคาผลไม้ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน และมังคุด ขณะที่ผลไม้แช่แข็งในจีนก็เติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง

น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 15.3

-ฟิลิปปินส์มีสต็อกน้ำตาลลดลง จึงอนุมัติให้เอกชนนำเข้าน้ำตาลทราย จึงทำให้ไทยส่งออกน้ำตาลทรายไปยังฟิลิปปินส์มากขึ้น ประกอบกับผลผลิตของอินเดียได้ลดลงจากมรสุม และค่าเงินรีลของบราซิลแข็งค่าเลยทำให้ราคาน้ำตาลของบราซิลสูงขึ้น

ไก่สดแช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 5.6

-การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรในจีน ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคของจีนเปลี่ยนไปบริโภคเนื้อไก่แทนเนื้อหมู และไทยได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน โดยจัดเก็บที่อัตราร้อยละ 0 สำหรับประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ และเกาหลีใต้ อีกทั้งแนวโน้มของกระแสการรักษ์สุขภาพทำให้ผู้บริโภคนิยมบริโภคไก่มากขึ้นเช่นกัน

สินค้าเกษตรที่หดตัว

ข้าว หดตัวร้อยละ 44.7

-ราคาข้าวไทยเสียเปรียบคู่แข่ง โดยมีผู้ส่งออกรายใหม่อย่างจีน และเมียนมา เข้ามาเปิดตลาด จึงทำให้ส่วนบ่างตลาดของไทยลดลง

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 25.3

-ปัญหาโรคใบด่าง ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ประกอบกับการนำเข้าจากตลาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย หดตัว เพราะช่วงเข้าหน้าฝนปริมาณหัวมันที่ออกสู่ตลาดน้อย ทำให้การส่งออกลดลง

ยางพารา หดตัวร้อยละ 7.2

-การส่งออกชะลอตัวจากความต้องการใช้ยางพาราลดลง โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก และค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้ราคายางสูงกว่าประเทศคู่แข่ง และสต็อกยางของจีน และญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และ 10.7 ตามลำดับ

กุ้งสดแช่แข็ง และกุ้งแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.8

-สหรัฐฯ นำเข้ากุ้งไทยลดลงจากค่าเงินบาทแข็ง ยกเว้นการส่งออกไปจีนที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีบทความโจมตีกุ้งไทย เรื่องของการทำลายสิ่งแวดล้อม และการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีการควบคุม

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์