คิดก่อนค้ำ! เจ็บใจจนตายถ้าริเป็น “ผู้ค้ำประกัน” เป็นหนี้ท่วมหัวทั้งที่ไม่ได้ก่อ


เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด ยังเป็นคำพูดที่ใช้ได้ทุกยุค ทุกสมัย โดยมักจะเป็นปัญหาที่ผู้ค้ำประกันตกเป็นคนรับกรรมที่ไม่ได้ก่อเพียงเพราะความเกรงใจ ทนฟังคำอ้อนวอนจากคนอยากกู้หนี้ยืมสินไม่ไหว จนเซ็นค้ำประกันให้ เมื่อถึงเวลาชำระลูกหนี้ไม่มี แถมหนี ไม่จ่าย ภาระหนักอึ้งจึงตกเป็นของ “ผู้ค้ำประกัน”

สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ การค้ำประกัน ว่าจะทำอย่างไรให้การค้ำประกันการกู้ยืมให้คนอื่น ปลอดภัยและมีการพิจารณาอย่างรอบคอบได้มากที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลดีๆ ก่อนที่คุณจะตัดสินใจจรดปากกาเซ็นชื่อลงไปในสัญญาค้ำประกัน ดังต่อไปนี้ 

 

 

กฎหมายน่ารู้ 58 : คิดก่อนค้ำ !!! “ข้อควรรู้ก่อนเป็นผู้ค้ำประกัน”

Q : การค้ำประกัน คืออะไร?
A : คือ สัญญาที่คนหนึ่งเรียกว่า “ผู้ค้ำประกัน” สัญญาว่าจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ถ้าหากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ หนี้ที่ค้ำประกันนี้จะเป็นหนี้อะไรก็ได้ทั้งสิ้น เช่น หนี้เงินกู้, หนี้ค่าสินค้าฯ

Q : สัญญาค้ำปะกันทำกันตอนไหน?
A : ทำก่อนหรือหลังการทำสัญญากันก็ได้ แต่จะเน้นไปที่ความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ลูกหนี้ทำสัญญากับเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ทำสัญญากับผู้ค้ำประกัน เพื่อค้ำสัญญาที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ทำระหว่างกัน

เพราะฉะนั้น การตัดสินใจว่าเราควรจะไปค้ำประกันให้คนอื่นหรือไม่ จำไว้เสมอว่า จะช่วยใคร…ก็อย่าทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่เช่นนั้นเราอาจจะหมดตัวหรือล้มละลายได้

 

 

คิดก่อนค้ำ – ค้ำยังไงไม่ให้ทนทุกข์

  • อ่านสัญญาทุกครั้งก่อนเซ็นค้ำประกัน
  • ห้ามเซ็นสัญญาที่เขียนว่า “ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบลูกหนี้”
  • อย่าเกรงใจ ค้ำประกันให้ใครง่ายๆ
  • ดูให้แน่ใจว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินหรือเงินชำระหนี้ได้
  • ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน
  • เขียนจำนวนเงินหรือความรับผิดชอบในสัญญาได้
  • รับผิดชอบตามที่ตกลงในสัญญาเท่านั้น
  • ให้รับผิดแทนลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้ หนีหนี้ แล้วเท่านั้น

ทำยังไง? เมื่อ เจ้าหนี้ เรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันจ่ายหนี้แทน

1. ไม่ต้องจ่ายหนี้ทันที เกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกร้องจากลูกหนี้ให้ถึงที่สุดก่อน
2. ดูทรัพย์สินของลูกหนี้ ว่ามีอะไรจะใช้หนี้ได้บ้าง
3. ให้เจ้าหนี้นำหลักประกันที่ยึดไว้ไปใช้หนี้ก่อนได้

หากลูกหนี้ผิดชำระหนี้ เจาหนี้ต้องทำหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบภายใน 60 วัน หากไม่แจ้งจะเสียสิทธิ์ในการทวงดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าทวงถามหนี้จากผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกันยุคใหม่ ค้ำยังไงไม่ให้ทนทุกข์

ลูกหนี้
ต้องการกู้ยืมแต่เจ้าหนี้ไม่ให้ ถ้าไม่มีหลักฐานค้ำประกัน จึงต้องหาผู้ค้ำประกัน

สัญญาค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกันควรขอดูรายการทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนค้ำประกัน

เจ้าหนี้
เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิ์เรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทน

ผู้ค้ำประกัน
รับผิดชอบตามที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น

 

 

ที่มา : สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม