เทรนด์ที่มาแรงที่สุดในแวดวงการตลาดในปัจจุบัน เรามักจะสนใจแต่เฉพาะช่องทางใหม่ๆ อย่างเช่น โซเชียล ระบบสั่งงานด้วยเสียง และ เทคโนโลยีเออาร์ (Augmented Reality หรือ AR) ซึ่งจะเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า
จีแซลล์ อาบราโมวิช บรรณาธิการบริหารคอนเทนท์เอ็นเตอร์ไพรซ์ ที่อะโดบี เผยผลการศึกษาล่าสุดจากอะโดบีชี้ว่าช่องทางการตลาดรูปแบบเดิมอย่างอีเมล (Email) ยังคงรักษาสถานะที่มั่นคงและสร้างความมั่นใจกับลูกค้าได้อย่างดีท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีและช่องทางใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
รายงานผลการศึกษา “Adobe Email Usage Study” ปี 2562 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นจาก 1,002 คนในสหรัฐฯ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ระบุว่า ผู้บริโภคใช้เวลาราว 5 ชั่วโมงต่อวัน โดยแบ่งเป็น ใช้เวลาราวๆ 3 ชั่วโมงเพื่อเช็คอีเมลบริษัท และ ประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อเช็คอีเมลส่วนตัว ผู้บริโภคเหล่านี้รีเฟรชกล่องอินบ็อกซ์ของตนเองในหลายๆ ช่วงเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน เช่น ขณะที่กำลังดูทีวี บนเตียงนอน ระหว่างการประชุมเรื่องงาน ขณะขับรถ และแม้กระทั่งในห้องน้ำ
ผลการศึกษาทำให้เห็นว่าเราทุกคนรู้สึกสบายใจกับการใช้อีเมล และอีเมลได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในเกือบทุกแง่มุม แม้ว่าเวลาที่เราใช้ในการเช็คอีเมลโดยรวมมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา แต่ความถี่ในการเช็คอีเมลก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูง เป็นการตอกย้ำว่าอีเมลยังคงมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของลูกค้า และนั่นหมายความว่ายังคงมีโอกาสที่สูงมากสำหรับนักการตลาดในการใช้ประโยชน์จากอีเมลเพื่อติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรม
สิ่งที่ควรปรับปรุงในการใช้อีเมล
ผลการสำรวจชี้ว่า ผู้ใช้เปิดดูอีเมลที่ทำงานบ่อยครั้งกว่าอีเมลส่วนตัว โดยอยู่ที่ 80% และ 57% ตามลำดับ นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุว่าตนเองชอบที่จะรับข้อเสนอผ่านทางอีเมลมากที่สุด (56% สำหรับอีเมลที่ทำงาน, 60% สำหรับอีเมลส่วนตัว) ซึ่งมากกว่าไดเร็คเมล โซเชียล และช่องทางการตลาดอื่นๆ อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคระบุว่า ในบรรดาข้อเสนอทางอีเมลจากแบรนด์ต่างๆ มีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นที่น่าสนใจหรือน่าดึงดูดมากพอที่จะเปิดอ่าน แล้วเพราะเหตุใดผู้บริโภคถึงไม่เปิดดูอีเมล? ผู้ตอบแบบสอบถามชี้ว่าการที่แบรนด์ต่างๆ ส่งอีเมลมาบ่อยครั้งเกินไปทำให้พวกเขารู้สึกรำคาญใจ ทั้งในส่วนของอีเมลที่ทำงานและอีเมลส่วนตัว ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่ถูกกล่าวถึงได้แก่ ข้อมูลการตลาดเกี่ยวกับผู้รับอีเมลไม่ถูกต้อง ข้อเสนอที่ส่งมาใช้สำหรับสินค้าที่เคยซื้อไปแล้ว และข้อความที่ส่งมาใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือยหรือไม่เหมาะสม
ผู้บริโภคระบุว่า การปรับแต่งแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) ในการทำตลาดผ่านอีเมลมีความสำคัญต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอีเมลส่วนตัว เมื่อแยกกลุ่มตามช่วงอายุ พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) (46%) ระบุว่าตนเองต้องการอีเมลสื่อสารแบบเฉพาะบุคคลจากแบรนด์ต่างๆ ตามมาด้วย 43% ของคนกลุ่ม Gen X และ 30% ของคนรุ่นเบบี้บูม ในส่วนของอีเมลที่ทำงาน 37% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลต้องการให้มีลักษณะเป็นแบบเฉพาะบุคคล เช่นเดียวกับ 26% ของคนรุ่น Gen X และ 23% ของคนรุ่นเบบี้บูม
ผู้บริโภคระบุว่าตนเองรู้สึกหงุดหงิดมากที่สุดกับอีเมลแนะนำสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงกับความสนใจของเขา โดยอยู่ที่ 33% สำหรับอีเมลที่ทำงาน และ 31% สำหรับอีเมลส่วนตัว
ข้อมูลเหล่านี้นักการตลาดสามารถนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของอีเมลที่ใช้ทางการตลาดได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง: