ฟินเทคจะกลายเป็นเทรนด์ธุรกิจบริการทางการเงิน


PwC เผยอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมทั่วโลก หันมาใช้ฟินเทคเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง

แต่พบส่วนใหญ่ประสบปัญหาแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและขาดความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับที่เพียงพอ ระบุการจับมือและเป็นพันธมิตรกันจะเป็นทางออกที่ดีในการปิดช่องว่างด้านแรงงานและนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเสริมให้กับธุรกิจ

พร้อมแนะผู้ประกอบการไทยลงทุนด้านระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลควบคู่ไปกับการพัฒนาฟินเทค เพื่อป้องกันความเสี่ยงและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน “2019 Global Fintech Report” ที่ทำการสำรวจผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial Services) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม (Technology, Media and Telecommunications) มากกว่า 500 คนทั่วโลก เพื่อหาปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดถึงความสำเร็จและความท้าทายในการพัฒนาและสร้างผลกำไรจากการประยุกต์ใช้โมเดลทางธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยฟินเทค

พบว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมต่างกำลังนำฟินเทคมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และเพิ่มความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของตน

ไม่ว่าจะเป็นธนาคารดิจิทัลที่กำลังออกแบบข้อเสนอและรูปแบบค่าใช้จ่ายใหม่ ๆ ให้แก่ลูกค้า ผู้จัดการการลงทุนที่นำหุ่นยนต์ที่ปรึกษามาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ หรือ บริษัทประกันภัยที่นำเซ็นเซอร์มาใช้ในการติดตามสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วยของลูกค้า

โดยผลสำรวจระบุว่า ผู้บริโภคมีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล โดยโจทย์ใหญ่วันนี้ไม่ได้อยู่ที่ฟินเทคว่า จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมบริการทางการเงินหรือไม่อีกต่อไป แต่บริษัทใดจะสามารถนำฟินเทคมาประยุกต์ใช้ได้ดีที่สุดและขึ้นเป็นผู้นำตลาด

ผลจากการสำรวจพบว่า 47% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และ 48% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินมีการนำฟินเทคมาใช้ในรูปแบบปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ 44% และ 37% ของบริษัทใน 2 อุตสาหกรรมนี้ยังได้นำเทคโนโลยีเกิดใหม่มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการ

ในส่วนของประเทศไทยที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด นี่จึงทำให้กระแสของการประยุกต์ใช้ฟินเทคในกลุ่มผู้ประกอบการไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการการชำระเงินออนไลน์ที่เติบโตอย่างมาก ขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่ในกลุ่มนอนแบงก์เอง ก็เข้ามาในตลาดจำนวนมากขึ้นเช่นกัน และส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ

ระยะต่อไปทั้ง 2 กลุ่มอุตสาหกรรมจะมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการความเชี่ยวชาญ และ Know How ของกันและกัน ด้านธนาคารพาณิชย์ของไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยีที่ต้องการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เช่นเดียวกันที่บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และบริษัทสตาร์ทอัพก็ต้องการความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎระเบียบจากฝั่งการเงิน ที่ผ่านมาจึงเห็นแบงก์ไทยหลายราย มีการจัดตั้งบริษัทย่อยด้านฟินเทค หรือเป็นพันธมิตรกับบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เพื่อให้สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 อุตสาหกรรมต้องคำนึงควบคู่ไปกับการพัฒนาฟินเทค คือ การมีมาตรการการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับลูกค้า

อ้างอิง: PwC