เปิดเหตุผลที่คนรุ่นใหม่หันไปซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ เพราะประสบการณ์ไม่ดีจากการซื้อหน้าร้าน


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคกลายเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลัง อาจจะด้วยความสะดวกสบาย มีตัวเลือกหลากหลาย และเช็คว่ายังมีสินค้าอยู่หรือไม่ เหล่านี้จึงกลายเป็นเหตุผลของการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้คนมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าตามหน้าร้านต้องปรับตัว

ผลสำรวจเรื่อง 2020 APAC Shopper Study ของซีบรา เทคโนโลยีส์ คอร์ปอเรชั่น ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยแบ่งรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ผู้บริโภคกลุ่ม Millennials ร้อยละ 86 และผู้บริโภคกลุ่ม Gen X กว่าร้อยละ 56 มักเลือกเดินดูสินค้าในร้าน แต่ไม่ซื้อ โดยจะกลับไปซื้อผ่านช่องทางออนไลน์แทน
  • ผู้บริโภคกลุ่ม Boomers ร้อยละ 25 ที่มีพฤติกรรมแบบนี้

โดยเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคกลุ่ม Millennials และ Gen X ต่างเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะว่าเจอกับประสบการณ์ไม่ดีเวลาไปซื้อของที่หน้าร้าน โดยเฉพาะเหตุผลหลัก คือสินค้าหมดสต๊อก

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับ “ราคา” โดยมีการเปรียบเทียบ ซึ่งพวกเขาจะไม่ซื้อสินค้าที่วางขายหน้าร้าน หากมีราคาสูงกว่าการซื้อผ่านออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร้านค้าปลีกก็ยังคงมีความสำคัญสำหรับการซื้อ-ขายสินค้าอยู่ โดยจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นสินค้าคงคลัง, ความสะดวกในการค้นหาสินค้า, การเปลี่ยนและคืนสินค้า รวมถึงให้ความสำคัญกับขั้นตอนการซื้อที่สะดวก เป็นไปอย่างราบรื่น และเข้าถึงได้หลายช่องทาง เหล่านี้จะช่วยมัดใจได้ทั้งลูกค้าเก่า และลูกค้าใหม่

จากผลสำรวจผู้บริโภคมีความต้องการอยากจะเห็นร้านค้าปลีกมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการดังต่อไปนี้

  • ร้อยละ 63 เชื่อว่าถ้าพนักงานขายสินค้าหน้าร้านมีอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์แบบพกพาที่มีสแกนเนอร์ในตัวจะช่วยเปิดประสบการณ์การซื้อสินค้าของพวกเขาดียิ่งขึ้น
  • ร้อยละ 48 เชื่อว่าจะช่วยให้ลูกค้าสามารถค้นหาสินค้าได้
  • ร้อยละ 46 ให้ข้อมูลเพื่อคำถามเกี่ยวกับสินค้าได้
  • ร้อยละ 42 จะช่วยประหยัดเวลาของผู้บริโภคได้

เช่นเดียวกับในส่วนของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีเมื่อซื้อสินค้าหน้าร้านเหมือนกัน ซึ่งแบ่งรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ร้อยละ 63 ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะใช้หน้าจอสัมผัสเพื่อค้นหาสินค้า ตรวจสอบราคา เช็คโปรโมชัน และสแกนบาร์โค้ด
  • ร้อยละ 59 ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะใช้คูปองซึ่งอ้างอิงจากตำแหน่งที่พวกเขาอยู่ ณ เวลาขณะนั้นมากกว่าคูปองของร้านค้าที่เป็นสาขาใกล้บ้าน
  • ร้อยละ 58 ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะใช้บริการเช็คเอ้าท์อัตโนมัติ