ผลการวิจัยใหม่จะทำให้เข้าใจ Gen Z ของไทยมากขึ้น


งานวิจัย “Meet the Zers” ของสตามิน่า เอเชีย จะช่วยให้นักการตลาดของแบรนด์ต่าง ๆ ได้รู้จักและเข้าใจคน Gen Z ของไทยมากขึ้น

ผลการศึกษาสามารถให้คำจำกัดความของ Gen Z ในประเทศไทยได้ว่า เป็นผู้ที่เกิดระหว่างปี 2538 ถึง 2553 เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะเหมือน ๆ กันไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก พวกเขาเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่กับคอมพิวเตอร์, อินเตอร์เน็ต, โทรศัพท์มือถือ และโซเชียลมีเดียตั้งแต่วัยเด็ก

ถือได้ว่าเป็นคนยุคดิจิทัลแบบแท้จริงรุ่นแรก และเป็นผู้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ และการเชื่อมต่อกันแบบทันทีทันใด นอกจากนี้พวกเขายังไม่เพียงแต่จะสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างไม่มีติดขัดเท่านั้น

แต่คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้วยความต้องการใหม่ ๆ หรือการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อทำให้โลกก้าวล้ำขึ้นไปอีกขั้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นความท้าทาย ต่อธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะสามารถเปลี่ยนให้เป็นโอกาสได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจเหล่านั้นมีความเข้าใจถึง คนเหล่านี้มากขึ้นว่าพวกเขามีวิธีบริโภคและรู้จักแบรนด์ต่าง ๆ อย่างไร

ผู้คนจะมอง Gen Z ว่ามีความยึดมั่นในอุดมการณ์มากกว่า กล้าที่จะเผชิญหน้ามากกว่า และมีหลักการมากกว่า พวกเขาเหล่านี้คือผู้บริโภคที่มีความใส่ใจในเรื่องของศีลธรรม รวมถึงในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าข้อสังเกตทั่วไปนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรผิดแปลกแล้ว คำถามที่แท้จริงของงานวิจัยที่ทาง สตามิน่า เอเชีย ทำขึ้นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการหาคำตอบว่า ข้อสรุปเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้กับ Gen Z ในประเทศไทยได้แค่ไหน

ผลการวิจัยพิสูจน์ให้เห็นว่า Gen Z ในประเทศไทยเป็นอย่างไร

ลักษณะส่วนใหญ่ของ Gen Z ในประเทศไทยนั้นเหมือนกับ Gen Z ที่อาศัยอยู่ในซีกโลกตะวันตก กล่าวคือ พวกเขามีความต้องการที่จะท้าทายกับสถานะปัจจุบันในแง่ของคุณค่า, ธรรมชาติ, เทคโนโลยี รวมถึงความสัมพันธ์กับแบรนด์ต่าง ๆ

ทั้งนี้ 35% ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยชาวไทยนั้นระบุว่า “ความยั่งยืน” เป็นสิ่งที่ควรค่าและพร้อมที่จะสู้เพื่อสิ่งนี้ จากมุมมองดังกล่าวนี้เอง เราจึงสามารถอธิบาย Gen Z ของไทยได้ว่าเป็น “True Gen” ซึ่งก้าวไปข้างหน้าด้วยการเสาะหาสิ่งที่เป็นแก่นแท้

อย่างไรก็ตาม ยังมีความแตกต่างที่สามารถสังเกตเห็นได้บางประการ นั่นคือ Gen Z ของไทยนั้นจะออกไปในแนวของผู้มีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial) มากกว่า มีความสนใจในความสำเร็จทางการเงินมากกว่า หัวรั้นน้อยกว่า และเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลายมากกว่า Gen Z ของทางฝั่งตะวันตก

นอกจากนี้ Gen Z ของไทยนั้นยังมีความเป็นปัจเจกมากกว่า โดย 36% ของ Gen Z ในไทยนั้นเลือกคำกล่าวที่ว่า “เป็นตัวของตัวเอง!” ให้เป็นสุดยอดคติประจำใจ

รู้แบบนี้แล้วแบรนด์และนักการตลาดทั้งหลายคงจะเข้าใจคน Gen Z มากขึ้น และสามารถทำการออกแบบสินค้าและบริการให้ตรงความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้

อ้างอิง: สตามิน่า เอเชีย