เผยพฤติกรรมผู้บริโภคปี 63 เปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนหลังโควิด-19


การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นำมาซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมตามมาตรการของรัฐฯ นำมาสู่การจับจ่ายใช้เงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงเทรนด์การใช้เทคโนโลยี และหันมาใส่ใจในด้านสุขภาพ

การสำรวจมุมมองของผู้บริโภคทั่วโลก (Global Consumer Insights Survey) ของ PwC พบว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการเว้นระยะทางสังคม นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นฐานของผู้บริโภค โดยการศึกษาในครั้งนี้แบ่งการสำรวจออกเป็น 2 ครั้ง คือก่อนและหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ผลการสำรวจพบว่า แม้การซื้อสินค้าที่ร้านยังคงเป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคเลือกใช้ แต่มากกว่า 1 ใน 3 คิดเป็น 35% หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการสั่งซื้ออาหาร ขณะที่ 86% ของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ในเวลานี้มีแผนที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ซ้อสินค้าต่อไป หลังมาตรการเว้นระยะทางสังคมจะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม

เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในสินค้าประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร พบว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้บริโภค 47% จับจ่ายสินค้าที่ร้านค้าเป็นประจำหรือทุกสัปดาห์ แต่หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่องทางการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางโทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต เพิ่มเป็น 45%, 41% และ 33% ตามลำดับ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเติบโตของช้อปปิงออนไลน์

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังหันมาใส่ใจในเรื่องของความยั่งยืน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 45% บอกว่าจะหลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติกทุกครั้งที่ทำได้ ขณะที่ 43% ต้องการให้ธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของตน และ 41% ต้องการให้ธุรกิจค้าปลีกจำกัดการใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่าย

อีกทั้ง ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองเพิ่มขึ้น โดย 51% ของผู้บริโภคในเมืองเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิต รวมถึงสุขภาพทางกายและการรับประทานอาหารที่ดีขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19