ส่อง! 9 เทรนด์ท่องเที่ยวในอนาคตที่ธุรกิจต้องปรับตัว เพราะทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม, ร้านอาหาร, บริการนำเที่ยว เป็นอีกภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อรายได้ที่ขาดหายไปจำนวนมาก

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มจะดีขึ้น โดยภายในประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทางภาครัฐฯ เริ่มเปิดให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ผู้ที่ทำธุรกิจอยู่ในภาคการท่องเที่ยวควรให้ความสำคัญ ไม่ควรมองข้าม คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเห็นได้จาก ผลการสำรวจของ Booking.com แพลตฟอร์มการจองที่พัก ที่สำรวจข้อมูลของผู้เดินทางมากกว่า 20,000 คน ใน 28 ประเทศทั่วโลก (รวมประเทศไทย) มารวมกับข้อมูลเชิงลึกจากพฤติกรรมการค้นหา และการบอกต่อของนักเดินทางบนแพลตฟอร์ม ซึ่งออกมาเป็น 9 เทรนด์การเดินทางในอนาคตของนักท่องเที่ยว ดังต่อไปนี้

1.จากความปรารถนาสู่ความจำเป็น

ในช่วงของการล็อกดาวน์ พบว่ายิ่งอยู่บ้านนานเท่าไหร่ ผู้คนก็ยิ่งโหยหาการเดินทางมากเท่านั้น ดูได้จากชาวไทย ร้อยละ 71 ที่รู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้กลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง ขณะที่ร้อยละ 77 รู้สึกเห็นคุณค่าของการเดินทางมากขึ้น และนักท่องเที่ยวชาวไทย 2 ใน 3 ปรารถนาที่จะไปท่องโลกกว้างยิ่งกว่าเดิม

2.ความคุ้มค่าต้องมาก่อน

จะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้จ่ายมากขึ้น เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่นักเดินทางจะมองถึงความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายออกไป โดยนักท่องเที่ยวชาวไทย ร้อยละ 78 จะให้ความสำคัญกับราคา และวางแผนการเดินทาง รวมถึงมีแนวโน้มมองหาโปรโมชัน และข้อเสนอพิเศษมากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าพฤติกรรมนี้จะอยู่ไปอีกนานหลายปี

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริโภคยังมองถึงความโปร่งใสเกี่ยวกับกระบวนการจองที่พัก โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยร้อยละ 80 ระบุว่าต้องการให้แพลตฟอร์มจองการเดินทางเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับนโยบายการยกเลิก ขั้นตอนการคืนเงิน และตัวเลือกประกันการเดินทาง

3.ขอเน้นที่ใกล้และคุ้นเคย

แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการ แต่การเดินทางไปต่างประเทศยังคงเป็นเรื่องห่างไกลอยู่ ดังนั้นการเดินทางในพื้นที่ภายในประเทศเลยเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นขึ้นมา โดยนักท่องเที่ยวชาวไทย ร้อยละ 61 วางแผนจะเดินทางในประเทศภายใน 7-12 เดือนที่จะถึง ขณะที่ ร้อยละ 53 วางแผนที่จะเดินทางในประเทศในระยะยาว ( 1 ปีขึ้นไป)

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวไทย ร้อยละ 36 วางแผนที่จะไปสำรวจจุดมุ่งหมายใหม่ ๆ ที่ไม่เคยไป โดยอยู่ใกล้เคียงภูมิลำเนา หรือภายในประเทศ และร้อยละ 55 อยากใช้เวลาไปชื่นชมความงดงามของธรรมชาติในไทย

4.หลีกหนีความจริงด้วยการค้นหา

คนไทยส่วนใหญ่ 98% เคยใช้เวลาไปกับการค้นหาแรงบันดาลใจสำหรับทริปพักผ่อน โดยกว่าร้อยละ 68% ได้เสิร์ชหาจุดหมายท่องเที่ยวต่าง ๆ บ่อยถึงสัปดาห์ละครั้ง นอกจากนี้ 41% ตอบว่ารู้สึกหวนคิดถึงวันวานเมื่อเปิดดูภาพถ่ายเก่าๆ จากทริปก่อน ๆ ขณะมองหาแรงบันดาลใจการท่องเที่ยวในอนาคต

5.ปลอดภัยไว้ก่อน

เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ดังนั้นเรื่องความปลอดภัยจึงไม่อาจเป็นเรื่องที่มองข้ามได้ โดยชาวไทย ร้อยละ 89 จะใช้ความระมัดระวังในการเดินทางมากขึ้น และร้อยละ 83 คาดหวังให้สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มีการปรับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม อีกทั้ง ร้อยละ 86 จะเลือกจองเฉพาะที่พักที่มีการระบุมาตรการด้านสุขภาพและอนามัยไว้อย่างชัดเจน

6.คำนึงถึงผลกระทบ

พฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้คนจะเน้นในเรื่องของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยเกิน 2 ใน 3 ต้องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นในอนาคต โดยร้อยละ 86% คาดหวังให้ภาคการท่องเที่ยวนำเสนอตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 84 ต้องการตัวเลือกในการเดินทางที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูจุดหมายปลายทางนั้นๆ ได้ และร้อยละ 82 ต้องการเห็นว่าเม็ดเงินที่จ่ายไปจะกลับเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

7.โบกมือลาการเข้าออฟฟิศ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เราได้เห็นการทำงานแบบ Work Form Home มากขึ้น ดังนั้น ผลที่ตามมาทางอ้อม คือทำให้ผู้คนสามารถเลือกวางแผนการเดินทางได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องเดินทางเข้าออฟฟิศ 5 วัน/สัปดาห์ จึงทำให้เราจะเห็นพฤติกรรมของนักเดินทางแบบ “Workation” หรือเที่ยวไปทำงานไปเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

8.สัมผัสความสุขง่าย ๆ

อย่างที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ผู้คนมีพฤติกรรมจะออกสำรวจโลกกว้างมากขึ้น และอยากสัมผัสกับธรรมชาติ จึงทำให้การเดินทางแบบธรรมดาที่สร้างความสุขได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเดินป่า ร้อยละ 94, อากาศบริสุทธิ์ ร้อยละ50, ธรรมชาติ ร้อยละ 44% และการผ่อนคลาย ร้อยละ 33

สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 4 ใน 5 ที่วางแผนจะดื่มด่ำกับประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบเรียบง่ายมากขึ้น เช่น การทำกิจกรรมกลางแจ้งกับครอบครัวระหว่างทริปพักผ่อน

9.เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกระตุ้นการเดินทาง

เทคโนโลยีกลายเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในเรื่องของการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ที่สามารถเพิ่มความสะดวกสบายในการดำเนินงาน โดยนักท่องเที่ยวชาวไทย ร้อยละ 81 เห็นว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพระหว่างเดินทาง ขณะที่ร้อยละ 80 เห็นตรงกันว่าผู้ให้บริการที่พักจะต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าพัก

นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวชาวไทย 7 ใน 10 (ร้อยละ 70) ต้องการให้มีตัวเลือกเทคโนโลยีที่สามารถใช้จองร้านอาหารแบบกระชั้นชิดได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทย 3 ใน 4 (ร้อยละ 75) ต้องการให้มีเครื่องมือแบบบริการตนเองมากขึ้นแทนที่จะผ่านเคาน์เตอร์ให้บริการเพื่อลดการสัมผัส

อีกทั้ง ร้อยละ 80 รู้สึกตื่นเต้นกับศักยภาพของเทคโนโลยีที่ช่วยปรับเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางให้เข้ากับความต้องการเฉพาะบุคคลได้มากขึ้นในอนาคต