หน้าร้านไม่ต้อง ทำความรู้จัก ‘คลาวด์ คิทเช่น’ เทรนด์ร้านอาหารแห่งยุค New Normal


คลาวด์ คิทเช่น (Cloud kitchen) ครัวที่ไม่มี ‘พื้นที่หน้าร้าน’ โดยใช้พื้นที่สำหรับเป็น Back house  ลักษณะเหมือนครัวที่ใช้ประกอบอาหาร โดยโมเดลนี้ถูกออกแบบมาเพื่อประกอบอาหารขายในรูปแบบของร้านที่ให้บริการแบบเดลิเวอรี เท่านั้น

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่ในประเทศไทย หลังจากเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. พบผู้ติดเชื้อรายหนึ่งเป็นหญิงไทยเจ้าของแพปลาในตลาดกลางกุ้ง มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร และเริ่มแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหลาย ๆ จังหวัดต่อเนื่องถึงขณะนี้ 

หากย้อนกลับไปที่ช่วงการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 หรือโคโรนาไวรัส ช่วงปลาย พ.ศ. 2562 ถึง พ.ศ. 2563 ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนแพร่กระจายไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในแง่ของพฤติกรรมใหม่ของผู้คนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถูกเรียกในชื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ NEW Normal ที่หลาย ๆ คนได้ยินคำนี้จนคุ้นหู ซึ่ง ราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติศัพท์ “New Normal” ว่า หมายถึงความปกติใหม่, ฐานวิถีชีวิตใหม่ ที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต ซึ่งไม่เพียงแค่เปลี่ยนด้านพฤติกรรมของผู้บริโคยุคใหม่ แต่เรายังได้เห็นการปรับกลยุทธ์ของบรรดาแบรนด์ใหญ่ เพื่อรับมือความท้าทายของยุคโควิดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ซึ่งหนึ่งในรูปแบบใหม่ นั่นคือการหันมาใช้การให้บริการแบบ คลาวด์ คิทเช่น (Cloud kitchen) ครัวที่ไม่มี ‘พื้นที่หน้าร้าน’ หรือเรียกได้ว่าเป็นคร้วกลาง สำหรับปรุงอาหารรองรับเฉพาะการให้บริการแบบเดลิเวอรี่ ที่ตอบโจทย์คนอยู่บ้าน หรือคนที่ไม่ต้องการออกมานอกบ้านเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ซึ่งเราขอยกตัวอย่างแบรนด์ที่ปรับกลยุทธ์สู่คลาวด์ คิทเช่น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุค New Normal มาฝากกัน 

“New Sizzler : New Normal”

ซิซซ์เล่อร์ ผู้นำของกลุ่มธุรกิจเชนร้านอาหารสไตล์ตะวันตกในเมืองไทยตลอด 28 ปี ปัจจุบันซิซซ์เล่อร์พยายามปรับกลยุทธ์ในหลายมิติเพื่อลดจุดอ่อนและอุปสรรคในการแข่งขันลงให้มากที่สุด จะเห็นได้ชัดจากการประกาศปรับภาพลักษณ์ใหม่จาก Dine-in Restaurant ที่มีสเต็กและสลัดบาร์เป็นจุดขายหลัก มาสู่การเป็นแบรนด์เพื่อสุขภาพ ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ธุรกิจสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือ Mega Trends ด้านสุขภาพ

ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้สามารถการขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เปิดกว้างมากขึ้น ยังถูกจำกัดโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยจำนวนสาขาเพียง 57 แห่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ศูนย์การค้า แต่ปัจจุบันผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความสะดวก รวดเร็วและลดความถี่ในการใช้บริการภายในร้านอาหารลง ขณะเดียวกันก็มีบริการฟู้ด เดลิเวอรี่เข้ามาเป็นทางเลือกและสามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

ซิซซ์เล่อร์จึงตัดสินใจหันมาโฟกัสเกมรุกด้านช่องทางจัดจำหน่าย (Place Strategy)ภายใต้แนวคิด “New Sizzler New Normal” ด้วยการยกระดับบริการเดลิเวอรี่ ซึ่งล่าสุดเตรียมขยาย Sizzler Cloud Kitchen โมเดลครัวกลางรูปแบบใหม่ให้ที่สะดวก ใกล้บ้าน จากการนำเอาแนวคิด Cloud มาประยุกต์ใช้กับร้านอาหาร โดยการยกครัวของซิซซ์เล่อร์มาไว้ในร้านเดลิเวอรีของร้านในเครือไมเนอร์ฯ

โดยแต่ละจุดจะให้บริการในรัศมี 3 กิโลเมตรหรือใช้เวลาการทำอาหารจนถึงส่งไม่เกิน 1 ชั่วโมงและสามารถซื้อทั้งแบบเดลิเวอรีและสั่งกลับบ้าน (Takeaway) ขณะนี้ 3 สาขาและวางแผนจะเพิ่มอัตราเร่งมากขึ้นเพื่อผลักดันให้สัดส่วนการใช้บริการเดลิเวอรี่เติบโตจาก 5% เป็น 10%และภายใน 2 ปีข้างหน้าที่จะสัดส่วนเป็น 30%

 

“แกร็บคิทเช่น” ตอกย้ำศักยภาพอีโคซิสเต็ม แกร็บฟู้ด แบบครบวงจร

แกร็บ ประกาศเปิดตัว GrabKitchen (แกร็บคิทเช่น) แห่งแรกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ณ ตลาดสามย่าน เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 หลังจากประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในประเทศอินโดนีเซีย โดย แกร็บคิทเช่น คือ คลาวด์ คิทเช่น (Cloud Kitchen) หรือครัวกลางที่ได้รวบรวมร้านอาหารและเครื่องดื่มอันหลากหลายมาไว้ในที่เดียวเพื่อช่วยขจัดช่องว่างและข้อจำกัดด้านสถานที่ตั้งของร้านอาหารในพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งเพิ่มตัวเลือกด้านอาหารที่หลากหลายยิ่งขึ้นผ่านการใช้ฐานข้อมูลของแกร็บฟู้ด

โดยแกร็บ พัฒนากลยุทธ์ร่วมกับพาร์ทเนอร์ร้านค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อเติมเต็มระบบอีโคซิสเต็มให้สมบูรณ์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าพาร์ทเนอร์ร้านค้าของแกร็บ ต้องจัดการกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การลงทุน ลูกค้าไม่สามารถเข้าถึงเมนูอาหารได้เท่าที่ต้องการ หรือเวลาส่งอาหารที่ยาวนาน แกร็บคิทเช่นจึงแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบธุรกิจอาหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารขนาดย่อมและขนาดกลางหรือผู้ประกอบการอิสระต่าง ๆ มีโอกาสขยับขยายธุรกิจโดยที่ไม่ต้องคอยกังวลถึงค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินการที่สูงลิ่วหรือต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมาก ในส่วนของพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่นั้น โปรเจ็กต์นำร่องในครั้งนี้จะช่วยสร้างออเดอร์อาหารที่มากขึ้น ส่งผลต่อโอกาสด้านรายได้ที่มากขึ้นด้วย

 

 

โดยแกร็บ คิทเช่นแห่งแรกอยู่ที่ตลาดสามย่านชั้น 2 ซึ่งเป็นทำเลที่เชื่อมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯที่เชื่อมอย่างสยาม สีลมและสาทร ซึ่งรวบรวมร้านอาหารมาเข้ามาไว้ 12 ร้าน อาทิ บราวน์คาเฟ่, เอลวิสสุกี้, ป.เจริญชัย ไก่ตอน, ตำป๊อกป๊อก ฯลฯ และร้านอาหารจากเครือเซ็นทรัลอีก 5 ร้าน

เซ็นทรัล เรสตอรองส์ เปิดตัวคลาวด์คิทเช่น “Every Foood”

บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG เปิดเผยว่า การเติบโตของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นส่วนสำคัญสำหรับธุรกิจอาหารในอนาคต ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมความสะดวกสบาย คลาวด์ คิทเช่น จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ให้เติบโตได้มากขึ้นและเร็วยิ่งขึ้น

โดยจุดเด่นของคลาวด์คิทเช่น คือ เป็นครัวกลางที่รวมหลากหลายร้านอาหารไว้ในที่เดียวกัน ใช้พื้นที่ และเงินลงทุนน้อย ทำให้สามารถกระจายสาขาได้ง่าย และด้วยสาขาที่อยู่ใกล้บ้าน ลูกค้าได้รับอาหารเร็วขึ้น คุณภาพอาหารจึงยังคงสดร้อนเหมือนทานที่ร้าน อีกทั้งยังสามารถสั่งอาหารได้หลายร้านในออเดอร์เดียว ผ่านแอป Food Hunt และ Food Aggregators ชั้นนำ เพิ่มโอกาสให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายง่ายขึ้นและมากขึ้น

CRG เลือกเปิด “Every Foood” คลาวด์คิทเช่น แห่งแรกที่ย่านนาคนิวาส เพราะเล็งเห็นว่าเป็นทำเลศักยภาพที่สำคัญอีกแห่งของกรุงเทพฯ เป็นแหล่งที่พักอาศัย สำนักงานหนาแน่น มีกำลังซื้อสูง อีกทั้งการคมนาคมสะดวก โดยมีแผนจะเพิ่มจำนวนร้านอาหาร และขยายสาขา 10 สาขาภายในปีนี้ (2563) กระจายตามจุดต่าง ๆ และเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งแบรนด์ในเครือ CRG และแบรนด์สตรีทฟู้ดชื่อดัง รวมถึงแบรนด์ SME ใหม่ ๆ

โดยตั้งเป้ายอดขาย 100 ล้านบาทภายในปีแรก และจะสามารถสร้างยอดขายมากกว่า 50% ของธุรกิจเดลิเวอรีของ CRG ได้ภายใน 5 ปี

สำหรับ “Every Foood” คลาวด์ คิทเช่น สาขานาคนิวาส ประเดิมเฟสแรกด้วย 9 ร้านอาหารดังยอดนิยม ได้แก่ สุกี้ – ข้าวต้มปลา รพ.ธนบุรี 1 (สุกี้เลิศรส), เดอะ โวคาโน่ โทสต์ ร้านดังจากเชียงใหม่, ร้านมะ ยอดผักราชวัตร ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ผัดซีอิ๊วที่อร่อยที่สุด, ร้านขาหมูฮ่องเต้ เฮียซ้ง, ร้านคั่วไก่ดาวทอง, หมูทอดบ้านแขก, เดอะ แมงโก้ การ์เด้น, สลัด แฟคทอรี่ และเกาลูน