โตวิด-19 ระบาดนานกว่าคาด EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เล็กน้อยเป็น 1.9% จากเดิม 2.0%


EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เล็กน้อยเป็น 1.9% จากเดิมคาดที่ 2.0% ตามการปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยว และผลกระทบการระบาดในประเทศที่นานกว่าคาด แต่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคส่งออกที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง และเม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐที่จะเข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจ

EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.9% (ปรับลดจากประมาณการเดิมที่ 2.0%) หลังจากได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จากการระบาดระลอกใหม่ที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน (เมษายน-กรกฎาคม) ในการควบคุม ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะ face to face ลดลงมาก ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้มีแนวโน้มลดต่ำกว่าคาดมาอยู่ที่ 4 แสนคน แม้ทางการจะมีแผนเปิดประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังระมัดระวังในการเปิดให้ประชาชนเดินทางไปต่างประเทศจากความกังวลต่อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมแผลเป็นต่อธุรกิจและแรงงานโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี สาเหตุที่เศรษฐกิจจะไม่ชะลอลงมากจากคาดการณ์ครั้งก่อน เป็นผลจากแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ฉีดวัคซีนได้เร็วกว่า รวมทั้งมาตรการ

 

ความช่วยเหลือของภาครัฐทั้งจากวงเงิน 2.4 แสนล้านบาทภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และวงเงินจาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ออกมาใหม่ ซึ่ง EIC คาดว่าจะมีเม็ดเงินบางส่วนราว 1 แสนล้านเข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้ ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ

 

 

โดยเศรษฐกิจจะต้องรอถึงช่วงต้นปี 2566 จึงจะกลับไปเท่ากับระดับ GDP ก่อนเกิด COVID-19 รวมทั้งยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำสำคัญ ได้แก่ ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดที่อาจนานขึ้น และความล่าช้าด้านการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัว
ของเศรษฐกิจอ่อนแอและล่าช้าออกไปอีก ทั้งนี้การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นควบคู่กับการผลักดันมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับ New Normal จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดขนาดของความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบถาวร (permanent output loss) ของเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้แข็งแกร่งในปีนี้ แต่จะมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับการควบคุมการระบาด ความเร็วของการฉีดวัควีน และขนาดของมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะขยายตัว 5.8% ดีกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 5.6% โดยการฟื้นตัวจะนำโดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนจนทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้ดีและผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองได้ก่อน
อีกทั้ง กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะได้แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐขนาดใหญ่ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ดีขึ้นจะทำให้ภาคครัวเรือนนำเงินออมส่วนเกินบางส่วนที่สะสมไว้ในช่วงปีที่แล้วมาทยอยใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย ขณะที่การฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) ส่วนใหญ่ยังคงช้ากว่า เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างช้า ๆ ทำให้ภาครัฐยังต้องบังคับใช้มาตรการควบคุม (lockdown) ที่เข้มงวดยาวนานกว่า อีกทั้ง มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐจะมีขนาดที่เล็กกว่าตามข้อจำกัดเชิงนโยบายเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว

สำหรับเศรษฐกิจไทย มูลค่าส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก มูลค่าการส่งออกที่หักทองคำในช่วง 4 เดือนแรกขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 12.8%YOY และกระจายตัวไปในกลุ่มสินค้าหลักเกือบทุกประเภท ทั้งนี้เมื่อพิจารณาช่วงที่เหลือของปี แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวดีโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว และราคาสินค้าส่งออกที่เร่งตัวขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภท จึงทำให้คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมที่จะมีปัจจัยฐานต่ำเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม ดังนั้น EIC จึงปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ 15.0% จากเดิมที่ 8.6% ทั้งนี้การส่งออกที่ปรับดีขึ้น จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในส่วนของการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร แต่การลงทุนภาคเอกชนด้านการก่อสร้างยังมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องตามการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของภาคอสังหาริมทรัพย์

ในส่วนของภาคท่องเที่ยว EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 เหลือ 4 แสนคน จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 1.5 ล้านคน โดยแม้ว่าไทยจะมีแผนการผ่อนคลายนโยบายเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว เช่น Phuket sandbox แต่หลายประเทศทั่วโลกยังมีนโยบายการเปิดประเทศให้คนเดินทางเข้าออกที่ค่อนข้างระมัดระวัง เนื่องจากความกังวลด้านการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร (UK) ที่แม้จะมีการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศในระดับสูงแล้ว แต่ก็มีนโยบายการเดินทางเข้าออกประเทศที่รัดกุม โดยจะใช้ระบบ Traffic Light system หรือระบบที่แบ่งประเทศทั่วโลกเป็นสีต่าง ๆ ได้แก่ สีแดง เหลือง และเขียว ตามลำดับ จากความเข้มงวดมากไปน้อย เพื่อกำหนดว่าคนที่เดินทางกลับเข้า UK จะต้องมีการกักตัวกี่วัน (ไทยถูกจัดอยู่ในประเทศสีเหลืองซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องกักตัวที่บ้าน 10 วันเมื่อกลับถึง UK)

ดังนั้น หากประเทศต่าง ๆ ที่เริ่มมีภูมิคุ้มกันหมู่ก่อน เลือกใช้นโยบายที่รัดกุมคล้าย UK ก็จะทำให้การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกจะยังล่าช้าออกไปอีก ทำให้ EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในรอบนี้

ด้านเศรษฐกิจในประเทศ จะได้รับความเสียหายจากการระบาดของ COVID-19 ในประเทศระลอกที่ 3 ที่มากกว่าคาด แม้ทางการจะหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการ lockdown ที่เข้มงวดมาก เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่การระบาดในระดับสูงต่อเนื่องทำให้ประชาชนมีความกังวลส่งผลให้การเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงค่อนข้างมากสะท้อนจากเครื่องชี้เร็ว เช่น mobility data ต่าง ๆ นอกจากนั้น ในคาดการณ์รอบก่อน EIC เคยคาดไว้ว่าการระบาดระลอกที่ 3 จะใช้เวลาควบคุมราว 3 เดือน แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ปรับแย่ลงกว่าเดิม สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อและคลัสเตอร์ต่าง ๆที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้คาดว่าระยะเวลาในการควบคุมการระบาดจะยาวนานขึ้นเป็น 4 เดือน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนราว 3.1 แสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศที่ปรับลดลงอีกด้วย

นอกจากนี้ การระบาดที่ยืดเยื้อยังมีแนวโน้มทำให้แผลเป็นทางเศรษฐกิจ (economic scars) ลึกขึ้น ซึ่งข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าอัตราการว่างงานกลับมามีทิศทางเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีโดยเพิ่มจาก 1.86% ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.96% คิดเป็นจำนวน
ผู้ว่างงาน 7.6 แสนคน ซึ่งสูงกว่าช่วงปิดเมืองรอบแรกเมื่อปีก่อนไปแล้ว

ทั้งนี้อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาในไตรมาสแรกนี้ยังไม่ได้รวมเอาผลของการระบาดระลอก 3 ซึ่งมีความรุนแรงมากเข้าไปด้วย ตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยจึงมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก ในขณะเดียวกัน จำนวนชั่วโมงทำงานก็ปรับตัวลดลงในไตรมาสแรกที่ -1.8% จากจำนวนคนทำงานต่ำระดับ (ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนเสมือนว่างงานที่ยังไม่ตกงานแต่ไม่มีการทำงานและไม่มีรายได้ที่มีอยู่ถึง 7.8 แสนคน เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจาก 3.6 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่จำนวนคนทำงานเต็มเวลาและล่วงเวลาลดต่ำลง นอกจากนี้ รายได้จากการทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วยเงินเดือน โบนัส และค่าแรงโอที ก็ยังหดตัวอย่างมีนัยสำคัญถึง -8.8% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในทุกสาขาธุรกิจสำคัญนอกภาคเกษตร ทั้งนี้แผลเป็นในตลาดแรงงานที่ลึกขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้และความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัวได้ยากและกระบวนการซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เป็นไปได้อย่างล่าช้า โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีตาม GDP ที่ยังคงหดตัว ก่อนที่จะทรงตัวในระดับสูงตลอดปี 2564 ตามมาตรการพักชำระหนี้ที่ยังมีอยู่ ขณะที่รายได้ไม่ได้ฟื้นตัวเร็วนัก ทำให้ปัญหาหนี้สูง (debt overhang) จะเป็นอีกอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะข้างหน้า

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม คลิก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)