ชมวัฒนธรรมไทยเบิ้ง แล้วชิมเมนูถิ่นสุดเรียบง่าย แต่ได้สุขภาพ


นวัตวิถีครั้งนี้ เราจะพาไปจรรโลงใจในวัฒนธรรมไทยเบิ้ง บ้านดีลัง หมู่ 3 ต.ดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งผู้เฒ่าส่วนใหญ่นิยมพาดผ้าขาวม้าสีแจ่ม เป็นเอกลักษณ์ ใครเห็นต่างอยากได้เป็นของฝาก ผ้าขาวม้าที่นี่จะสีสันสดใส เนื้อผ้าแน่น มักทอเป็นตารางตรงช่วงกลาง และทิ้งลายริ้วตรงหัวท้ายยาวมาก

ประวัติของบ้านดีลัง เชื่อว่า ตาดีกับยายลังเป็นสามีภรรยาคู่แรกที่เข้ามาตั้งรกรากทำกิน ต่อมามีกลุ่มคนอพยพมาจากเมืองเวียงจันทร์ เพื่อหนีภัยสงครามกบฏเจ้าอนุวงศ์ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หนองปลาซิวแต่เกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) และโรคฝีดาษระบาด จึงพากันอพยพมาอยู่ที่เดียวกับตาดีและยายลัง และมีคนมากขึ้นจนกลายเป็นหมู่บ้าน และได้เรียกขานถิ่นที่อยู่ตามชื่อของสามีภรรยาคู่แรก

ชาวบ้านดีลังส่วนหนึ่งเป็นชาวไทยเบิ้ง บางคนเรียกไทยเดิ้ง หรือไทยโคราช เนื่องจากนิยมฟังเพลงโคราช ซึ่งบรรพบุรุษไทยเบิ้งได้อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

สำเนียงการพูดมีเอกลักษณ์ คือใช้ภาษาไทยภาคกลาง แต่เหน่อแบบโคราช และมักลงท้ายคำพูดว่า เบิ้ง เหว่ย ด๊อก หรือ เด้อ ซึ่งบ้านดีลังเป็นชุมชนไทยเบิ้งที่เก่าแก่ที่สุดในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ส่วนใหญ่ใช้นามสกุลที่ลงด้วย ดีลัง

วัดดีลัง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านดีลัง มีวิหารเก่าหลวงปู่มั่น ร่องรอยของกำแพงวิหารเก่ายังมีให้เห็นเป็นอิฐศิลาแลง

นักท่องเที่ยวมักมาสักการะรอยพระพุทธบาทที่เป็นก้อนหินแท้ ผู้มาเยือนส่วนใหญ่จะไปกราบสักการะ ศาลปู่แก้วปู่สังข์ ซึ่งเป็นพึ่งทางใจของชาวบ้าน ที่เคารพกันมาตั้งแต่เนิ่นนาน

วัดพนมวัน อีกหนึ่งจุดศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนในตำบลดีลัง และมีสถานที่สำคัญรวมกันอยู่มากมาย เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน

ตั้งแต่การละเล่น วัฒนธรรมประเพณี วัดพนมวันนี้อยู่บนเนินเขาแร่เหล็ก สันนิษฐานว่าพื้นที่นี้ เคยเป็นฐานผลิตหลอมหินศิลาแลงส่งไปสร้างวังที่เมืองละโว้ ในยุคขอมเรืองอำนาจ

ด้านวิถีชุมชน ชาวบ้านดีลัง ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผู้เฒ่านิยมแต่งกายชุดท้องถิ่น และทำขนมโบราณสามอย่างไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งขนมมงคลโบราณนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการทำเลี้ยงในวันทำขวัญข้าว หรือวันที่เชิญเจ้าแม่โพสพเรียกเข้ายุ้งข้าว ได้แก่

ข้าวโปง ขนมโบราณที่ใช้ข้าวเหนียวแช่น้ำแล้วเอาไปนึ่งให้สุก จากนั้นรอพักให้เย็นก็เอาไปตำกับครกไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นครกตำข้าวสมัยก่อน มีสากไม้ด้ามยาว

เป็นการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน เมื่อแป้งถูกตีถูกตำถูกนวดจนเป็นเนื้อเดียวกัน ก็จะนำมาปั้นและใส่ไส้ ที่ทำจากถั่วลิสงคั่ว บดละเอียดผสมกับงาดำคั่ว น้ำตาลปี๊บ 

ขนมปิ้ง หรือขนมดาดกระทะ ซึ่งเป็นขนมทานเล่นที่ถูกคิดค้นมาจากอดีต เพื่อให้ลูกๆเอาไว้กินเล่น

โดยทำจากแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ผสมน้ำและใส่หัวกะทิ แล้วใส่เนื้อมะพร้าวทึนทึก น้ำตาล และชุบไข่ ก่อนลงไปปิ้งในกระทะให้เกรียม ใช้เตาถ่านที่เพิ่มความหอมของควันไฟ

ขนมหม้อแกงโบราณ ต้นตำรับแท้ต้องถาดกลม ขนมหม้อแกงสูตรโบราณจะใช้แป้ง กะทิ น้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลปี๊บ ไข่ไก่ แล้วขยำให้เข้ากัน ตามด้วยหัวกะทิอีกรอบ เมื่อกรองเสร็จก็ผสมถั่วเขียวนึ่งบดละเอียด แล้วเทลงถาดอลูมิเนียมกลมแบน

วิธีอบแบบโบราณ มักอบด้วยเตาถ่านที่ปิดด้านบนและด้านล่าง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการอบขนมแบบดั้งเดิม เมื่อหน้าสุกเป็นสีน้ำตาล จะโรยหน้าด้วยหอมเจียวพร้อมเสิร์ฟ

สำรับอาหารถิ่นไทยเบิ้ง เมื่อมาถึงถิ่นแดนไทยเบิ้ง ต้องมาลิ้มลอง ลาบหัวปลี อาหารจานสุขภาพที่ไม่ใช้เนื้อสัตว์ แต่ใช้หัวปลีซอยปรุงแทน

น้ำพริกกากหมู ที่มีเคล็ดลับความอร่อยคือหอมกะเทียมคั่วให้หอม แล้วโขลกปนกับกากหมู ใส่น้ำมะขามเปียก น้ำตาล และกะปิ ทานคู่กับกับผักสด และกากหมูทอด

แกงคั่วหน่อไม้ดอง ถือเป็นพระเอกของสำรับนี้ เนื่องจากชาวบ้านจะไปเก็บหน่อไม้ป่าบนเขาพระโจน ที่ขึ้นตามธรรมชาตินำมาดองไว้ นอกจากนั้นยังมีแกงเปรอะ ที่ใช้หน่อไม้สด ใบย่านาง และผักสมุนไพรพื้นบ้านนานาชนิด