บ้านมหาโพธิ หมู่ 2 ต.มหาโพธิ อำเภอสระโบสถ์ จ.ลพบุรี เดิมตั้งอยู่ที่เขาดิน ห่างจากหมู่บ้านปัจจุบันราว 2 กิโลเมตร จึงเรียกว่าบ้านเขาดิน (ปัจจุบันไม่มีบ้านเรือนตั้งอยู่) ต่อมาที่บ้านเขาดินขาดแคลนน้ำ แต่ที่ตั้งปัจจุบัน เนื่องจากมีหนองน้ำพุอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้อุปโภคบริโภค และเลี้ยงสัตว์ (ปัจจุบันเป็นบ่อน้ำคอนกรีต)
เมื่อมาถึงบ้านมหาโพธิ กิจกรรมท่องเที่ยวที่สนุกเพลิดเพลินคือการขี่จักรยานเที่ยวชมวิถีชีวิตรอบหมู่บ้าน ซึ่งจะได้เห็นทุ่งนาข้าวเหลืองทองสองข้างทาง ผักริมรั้วที่พร้อมจะเด็ดมาปรุงเป็นอาหาร ผู้คนมาหย่อนเบ็ดตกปลา ให้เวลาเดินไปอย่างช้าๆ สู่โหมดชาร์ตแบตเพื่อกลับมาสู่ชีวิตเมืองอีกครั้ง
อีกมุมของหมู่บ้านมหาโพธจะเป็นชุมชนทอผ้า ที่มีทักษะทอผ้ามัดหมี่ที่สืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมกระบวนการทอผ้าตามบ้านต่าง ๆ กว่า 30 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งกี่ทอผ้าไว้ใต้ถุนบ้าน ผ้าทอพื้นเมืองของบ้านมหาโพธิสร้างผลงานไม่น้อยหน้าใคร
โดยบริเวณหนองน้ำพุมีต้นโพธิ์ ต้นมะขาม และร่มเงาจากไม้ใหญ่อื่นๆ จึงมีการสร้างวัดขึ้นใกล้กับบ่อน้ำพุ และตั้งชื่อว่า “วัดโพธิ์ศรีมหาโพธิ” ต่อมาได้ออกเสียงเป็น “บ้านมหาโพธิ” มาจนถึงปัจจุบัน สันนิษฐานว่า หลวงปู่เพ็งเป็นผู้สร้าง แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน
วัดศรีมหาโพธิ์ คืออีกหนึ่งความร่มรื่น สง่างามด้วยพระพุทธรูปกลางแจ้ง เป็นหลวงพ่อทันใจ เป็นการผสมผสานศิลปะแบบพม่า และมีฉัตรอยู่ด้านบน ชาวบ้านนิยมมากราบขอโชคลาภ การงาน การค้า และการเสี่ยงโชค ด้านหลังเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสาริกธาตุ ด้านขวาเป็นอุโบสถงามสง่า มีพระประธานประจำอุโบสถ ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก 70 นิ้ว สูง 110 นิ้ว
อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ หนึ่งในโครงการในพระราชดำริ และเป็นเส้นทางเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำใช้อุปโภคบริโภค และการทำเกษตรกรรม
ชาวบ้านมหาโพธิซาบซึ้งในพระกรุณาอันล้นพ้น พร้อมดำเนินรอยตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ 30:30:30:10 โดยแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ออกเป็น 4 ส่วนคือ 30% ขุดเป็นสระกักเก็บน้ำ 30% ใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 30% ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น
ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมปลูกกล้วยน้ำว้า มะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ ต้นสัก ต้นไผ่รวก หรือต้นหวาย และ 10% ที่เหลือ ไว้เป็นพื้นที่สำหรับสร้างสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้านพัก คอกเลี้ยงสัตว์ และลานกิจกรรมของชาวบ้าน หากใครไปเที่ยวชุมชนบ้านมหาโพธิ ไม่ควรพลาดชมอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่นี้ เพราะสามารถเข้าถึงปรัชญาของพ่อหลวงอย่างแท้จริง
ณ ลานอเนกประสงค์ของริมสระน้ำใหญ่บ้านมหาโพธิ ป้าช้วนใจ และป้าพ้วน พุดชม เพื่อนคู่หูยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยว พร้อมสาธิตการจักสานตะกร้าหวายเทียม ถักพรมเช็ดเท้าจากเศษผ้า ซึ่งก่อนหน้านี้ฝึกเพื่อทำเป็นงานอดิเรกยามว่าง แต่ทำจนเชี่ยวชาญจึงยึดเป็นอาชีพหลัก
งานสานตะกร้า เป็นงานที่ละเอียดอ่อน อย่างที่กำลังสานอยู่คือ ลายดอกพิกุลซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดลพบุรี ของตะกร้าสานไม่ได้อยู่ต้นทุนของวัสดุ แต่คือความประณีตที่เรียงร้อยเส้นหวายแต่ละเส้นให้เกิดเป็นตะกร้า 1 ใบ
การถักพรมเช็ดเท้า เป็นงานฝีมือที่ทำง่าย แต่ใช้สมาธิในการถักสานด้วยเศษผ้า ผ้ายืดเหมาะในการถักพรมเช็ดเท้า เนื่องจากเนื้อนุ่ม ซับน้ำได้ดี และซักทำความสะอาดได้ง่าย ทั้งยังเป็นของใช้ประจำบ้านที่ผู้คนต้องการตลอด
ของฝากโอทอปนวัตวิถีบ้านมหาโพธิ ส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือของกลุ่มแม่บ้าน ที่ใช้เวลาว่างมาสร้างให้เกิดคุณค่า เช่น กระเป๋าย่าม ผ้ามัดหมี่พื้นเมืองลายช้างคู่ เปลญวนสีสดใส
สำหรับอาหารถิ่น เมนูแรกคือ น้ำพริกปลาร้า เริ่มจากการย่างพริกหยวก หอมแดง กระเทียม ให้ระอุตำแล้วตำโขลกหยาบๆ ปรุงรสน้ำปลา ปลาร้าสุก กรองไม่ให้เนื้อติดก้าง และเติมความเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาวสด ทานแกล้มผักลวก
แกงหน่อไม้ดอง ซึ่งเคล็ดลับสูตรนี้ ใช้น้ำฝนสำหรับหมักดองหน่อไม้ให้กรอบ เพราะหากหมักในน้ำประปาไม่นานหน่อไม้ก็จะเน่า พี่มนูคือตัวอย่างชุนชนที่ยังใช้วิถีแบบบ้านดั้งเดิมที่รองน้ำฝนไว้ใช้บริโภคในโอ่งใหญ่กว่า 10 โอ่ง
ทอดมันหัวปลี ที่ใช้เครื่องแกงเผ็ดมาผสมแป้งกรอบ ไข่ไก่ แล้วนำไปปั้นทอด
กล้วยบวดชี ซึ่งมีเคล็ดลับสูตรเฉพาะ คือนำกล้วยน้ำว้าแบบห่ามไปต้มให้สุกทั้งเปลือกเพื่อได้สีแดง ฝานชิ้นล้างน้ำปูน เพื่อไม่ให้เนื้อเป็นขุย